กสอ.สนับสนุนคลัสเตอร์ผึ้ง และยุทธศาสตร์ “แตกกอ” ในเชียงใหม่ ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดธุรกิจฝ่าวิกฤต COVID-19


ในช่วงวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบจำนวนมาก ดังนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้หาแนวทางในการส่งเสริมทักษะและยกระดับผู้ประกอบการโดยใช้เครื่องมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.), โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ “คลัสเตอร์” และโครงการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจให้สามารถแตกกอขยายสู่ธุรกิจใหม่ผ่านการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการประกอบการ หรือ “แตกกอ” เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รองรับและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ช่วงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กสอ.หาแนวทางส่งเสริมทักษะและยกระดับผู้ประกอบการ

ผ่านคลัสเตอร์  -แตกกอขยายสู่ธุรกิจใหม่

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมขอผู้ประกอบการ SMEในพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบจำนวนมาก ดังนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการโดยตรง จึงได้หาแนวทางในการส่งเสริมทักษะและยกระดับผู้ประกอบการโดยใช้เครื่องมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการประกอบด้วยโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เริ่มต้นการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการไปแล้ว 367 รุ่น ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 11,879 กิจการ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในระดับพื้นที่ในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการทุกสาขาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูลการดำเนินธุรกิจ การช่วยเหลือกันของผู้ประกอบการในระดับจังหวัดและภูมิภาค ทำให้เครือข่ายผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น, โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ “คลัสเตอร์” เป็นเครื่องมือในระดับธุรกิจที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพภายในเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย กสอ. ได้ขยายผลการขับเคลื่อนการผนึกกลุ่มผู้ประกอบการบนแนวคิด Cluster Hub คือ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถพัฒนาคลัสเตอร์ จำนวน 103 กลุ่ม และโครงการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจให้สามารถแตกกอขยายสู่ธุรกิจใหม่ หรือ “แตกกอ” ผ่านการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการประกอบการ พร้อมส่งเสริมทักษะเดิมของแต่ละบุคคลให้สามารถทำธุรกิจได้ โดยมีผู้ประกอบการเดิมให้การสนับสนุน เพื่อการดำเนินธุรกิจใหม่ในอนาคต

ส่งเสริมคลัสเตอร์ผึ้งและแตกกอธุรกิจในเชียงใหม่

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกอบการคลัสเตอร์ผึ้งที่มีศักยภาพกว่า 800 ราย สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตน้ำผึ้งในปี พ.ศ.2562 ในอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศเวียดนาม สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 1 หมื่นตันต่อปี และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน จำนวนกว่า 7,900 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 616.59 ล้านบาท แต่เมื่อประสบวิกฤต COVID-19 ในช่วงต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการกว่าครึ่งต้องยุติการประกอบคลัสเตอร์ผึ้งลง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการผึ้ง เช่น สุภาฟาร์มที่ปรับตัวเข้าร่วมโครงการกับทาง กสอ.เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งทางกสอ.โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญแตกกอธุรกิจผ่านการจัดทำโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้สูงอายุมาสู่กลุ่มคนวัยทำงาน โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลางของเครื่องมือในการขาย ทั้งการนำเสนอโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆพร้อมทั้งมองหาช่องทางในการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศอื่น ๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงแรมและอุตสาหกรรมสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ กสอ.ยังได้ส่งเสริมพัฒนาแตกกอธุรกิจของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรางผ้าม่านรายใหญ่บริษัท อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับสู่การเป็น Smart Farm ด้วยการทำแปลงปลูกผักด้วยดิจิทัลเพื่อพัฒนาให้การเพาะปลูกสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยกสอ.ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล, พัฒนาความชื้นของดิน, พัฒนาการบันทึกภาพแปลงผักในแต่ละวัน, การให้น้ำที่เหมาะสมและการจัดเก็บข้อมูลบน Big Dataให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงแอปพลิเคชันไลน์บนสมาร์ทโฟน ช่วยให้การดูแลแปลงผัก สะดวกง่ายและใช้คนน้อยในการดูแลแปลงผัก ที่สำคัญแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้สามารถเป็นธุรกิจที่จำหน่ายส่งต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ปลูกผักรองรับการวิกฤตการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

สุภาฟาร์มผึ้ง” ผู้ผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งรายใหญ่ในเชียงใหม่

ที่มาพร้อม 3 จุดเด่นที่ไม่เหมือนไม่ใคร

สุวรัตนา ยาวิเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภาฟาร์มผึ้ง จำกัด กล่าวว่า สุภาฟาร์มผึ้งก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2528 โดย คุณแม่สุภา ยาวิเลิศและคุณพ่อสมบูรณ์ ยาวิเลิศ ซึ่งได้ลาออกจากครูออกมาทำธุรกิจสุภาฟาร์มเพราะต้องการสร้างแบรนด์น้ำผึ้งของไทยในพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยได้ศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งจากชาวไต้หวันที่เข้ามาแนะนำเกษตรกรในช่วงนั้น สำหรับพันธุ์ผึ้งที่นำมาเริ่มเลี้ยงในช่วงแรกจำนวน 10 ลัง ในบริเวณสวนลำไยของที่บ้านเป็นสายพันธุ์ Apis Mellifera หรือผึ้งโพรงฝรั่ง สายพันธุ์โดยตรงมาจากประเทศอิตาลี ซึ่งชาวไต้หวันนำมาเลี้ยงแล้วส่งขายต่อมายังประเทศไทย โดย 1 ลัง ใส่ 8 แผ่น จะให้ผลผลิตน้ำผึ้งจำนวน 8 กิโลกรัมต่อครั้งการจัดเก็บ ซึ่งจะเก็บทุกๆ 7 วัน โดยใน 1 ฤดูกาล ประมาณ  6 เดือนในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำผึ้ง จะได้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 200 ตัน  ประกอบด้วย 1.น้ำผึ้งลำไย ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2.ดอกไม้ป่า ในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมกราคมและ3.ลิ้นจี่ ในช่วงเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์  ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันและเพาะพันธุ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่ทั่วประเทศไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย นิสัยดี ไม่ดุร้ายและให้น้ำผึ้งที่มีประสิทธิภาพซึ่งได้มีการเลี้ยงมาสักระยะจนเป็นที่รู้จักและมีลูกค้าจำนวนมากให้ความนิยมสั่งซื้อผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งในปริมาณที่สูงขึ้นทุกๆปี

ลังสำหรับเลี้ยงผึ้ง
ลังสำหรับเลี้ยงผึ้ง

ในปี พ.ศ.2548 จึงได้จดทะเบียนเป็นบริษัท สุภาฟาร์มผึ้ง จำกัด เพื่อสานต่อธุรกิจในรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการเข้ามาดูแลธุรกิจของครอบครัวร่วมกับน้องสาวและขยายการเลี้ยงผึ้งสู่พื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่เอง เชียงราย นครราชสีมาและชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม อุดมไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง ซึ่งเมื่อผึ้งได้พบแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ก็จะช่วยให้คุณภาพของน้ำผึ้งดีมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งประมาณ 1,500 รัง กระจายอยู่ 20 แห่งในพื้นที่ตลอดทั้งภาคเหนือ โดย 60-100 รังจะกระจายอยู่เต็มพื้นที่ 2 ไร่ที่มีอาหารผึ้งสมบูรณ์

“จุดเด่นที่สร้างความแตกต่างของน้ำผึ้งสุภาฟาร์มคือ 1.เป็นผู้ประกอบการฟาร์มผึ้งเอง 2.มีการแปรรูปเอง และ 3.นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ช่วยตอกย้ำสร้างความมั่นให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ และร้านค้าของบริษัทฯ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคลูกค้าชาวไทย 90% ในโรงแรม ร้านอาหาร ที่เหลืออีก 10%ส่ งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้” สุวรัตนา กล่าว

นอกจากนี้สุภาฟาร์มยังได้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ให้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการพัฒนา “ซีเรียลบาร์” จากน้ำผึ้งเป็นรายแรก ซึ่งซีเรียลบาร์นี้กินง่ายสำหรับผู้ที่ทานน้ำผึ้งไม่ได้ หรือไม่ชอบทานน้ำผึ้ง เหมาะสำหรับนักกอล์ฟและผู้ที่ควบคุมแคลอรีอาหารสำหรับเป็นมื้อเช้า หรืออาหารว่างระหว่างวันเพราะให้พลังงานเพียงชิ้นละ 130 กิโลแคลอรีเท่านั้น

เข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับกสอ.

ให้กลุ่มคลัสเตอร์ผึ้งแข็งแกร่ง- ทำตลาดได้มากยิ่งขึ้น  

สุวรัตนา กล่าวว่าการเข้าร่วม กสอ.ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในสุภาฟาร์มโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์และแตกกอธุรกิจ ในกลุ่มผู้ประกอบการผึ้งด้วยกันในพื้นที่ภาคเหนือและใกล้เคียงเพื่อให้กลุ่มคลัสเตอร์ผึ้งมีความแข็งแกร่ง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการผลิต มีการสนับสนุนนวัตกรรม เครื่องจักรกลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ในการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสรรพคุณของน้ำผึ้ง สารสำคัญที่อยู่ในน้ำผึ้งที่ผลิตได้ที่มีเฉพาะในน้ำผึ้งจากประเทศไทย ช่วยให้สามารถต่อรองขายส่งและขายปลีกแก่ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เลี้ยงผึ้ง ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงผึ้ง การส่งออกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผึ้งในส่วนต่างๆที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ประสบปัญหาการจำหน่ายสินค้า  เพราะไม่มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์เลย ทำให้รายได้ลดลง  ขณะที่ยังมีรายจ่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ประกอบการคลัสเตอร์ผึ้งหลายรายเริ่มเลิกการเลี้ยงผึ้งแล้วหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นทดแทน ทั้งนี้ยอดขายของสุภาฟาร์มก่อนหน้า COVID-19 อยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านบาท แต่ในช่วง COVID-19 ลดลงกว่า 70% รายรับประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอนาคตจึงต้องการทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคจำนวนมากและขนส่งไม่ไกลมากนัก

“ในอนาคตอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือในการมีห้อง Lab ทดสอบคุณสมบัติของน้ำผึ้งไทยและรองรับให้เป็นลักษณะเฉพาะเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบแอบอ้างน้ำผึ้งของไทยในแต่ละฟาร์มจำหน่าย” สุวรัตนา กล่าว

อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย)

จากธุรกิจรางผ้าม่านสู่ฟาร์มผักอัจฉริยะ

สราวุธ สินสำเนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รางผ้าม่านทุกชนิด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2008 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และอีก 3 สาขา ในจังหวัดเชียงราย อุดรธานีและกรุงเทพมหานคร เริ่มทำธุรกิจจากการซื้อมาขายไปก่อนจนกระทั่งเป็นผู้จำหน่ายเอง มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ในบริษัทหลายๆรูปแบบเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้า ทั้งโรงแรม ห้างสรรสินค้า โรงงานและอื่นๆทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่อื่นๆจากที่รายได้เดือนหนึ่งๆในหลัก 100 ล้านบาท แต่ด้วยวิกฤต COVID-19 ยอดขายรางผ้าม่านและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องลดลงเหลือไม่ถึง 10 ล้านบาท บริษัทฯจึงได้ปรับเปลี่ยนมาจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และใช้กลยุทธ์การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อดึงดูดลูกค้าแต่ยอดขายก็ยังไม่เติบโต

จัดทำแปลงปลูกผักด้วยนวัตกรรมดิจิทัลควบคุมการเปิดปิดน้ำ

ภายใต้การแนะนำของกสอ.

ดังนั้นในช่วงก่อน COVID-19 จึงได้มองหาธุรกิจอื่น ๆรองรับเนื่องจากธุรกิจของบริษัทฯเป็นธุรกิจฟุ่มเฟือยเมื่อเกิดปัญหาวิกฤตขึ้นกลุ่มลูกค้าจำเป็นต้องตัดรายได้การซื้อของฟุ่มเฟือยหรือชะลอการสั่งซื้อออกไปก่อน จึงร่วมกันคิดค้นจัดทำแปลงปลูกผักขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลควบคุมการเปิดปิดน้ำให้น้ำในช่วงเวลาแต่ละวันอย่างเหมาะสมของผักแต่ละชนิด โดยได้รับคำแนะนำจาก กสอ. แนะนำเข้าร่วมการแตกกอธุรกิจใหม่ดังกล่าว พัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งง่ายต่อการใช้งาน ลดกำลังคนที่ใช้ในการดูแลแปลงผัก

“การพัฒนาร่วมกับ กสอ.นี้ถือเป็นจุดริเริ่มให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาของพนักงาน จึงต่อยอดเป็นระบบ BAANSUAN SMART FARM พร้อมการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบปลูกผักให้มีประสิทธิภาพ เพื่อศักยภาพในการวัดระดับความชื้นของดิน ให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับการเติบโต และจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล Big Data ใช้สำหรับการวิเคราะห์สารอาหารในดิน และรูปแบบการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับพื้นชนิดต่าง โดยผู้ใช้งานสามารถคลิกสั่งการทั้งการเปิด/ปิดระบบรดน้ำ การวัดอุณหภูมิและค่าความชื่นในดิน ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถบันทึกภาพเพื่อตรวจสอบการเติบโตของพืชได้ในทุกระยะ เพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบการปลูกผักแต่ไม่มีเวลาดูแลได้นำไปใช้” สราวุธ กล่าว

สำหรับนวัตกรรมแปลงปลูกผักนี้จะเริ่มขายให้ผู้ที่สนใจในช่วงต้นปีพ.ศ.2564 นี้ เบื้องต้นราคาประมาณ 3,000 บาท สำหรับแปลงปลูก 12 เมตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบให้แปลงผักมีประสิทธิภาพรองรับการปลูกผักในแปลงให้ได้ทุก ๆประเภท และได้ทดสอบปลูกผักสวนครัวและผักสลัดในระดับครัวเรือนประมาณ 50 ชนิดก่อน ในอนาคตกำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ ( AI)  มาใช้เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในแปลงผักมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save