ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ เทคโนโลยี AI จะเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาช่วยยกระดับและเติมเต็มให้อุตสาหกรรม การแพทย์ของไทยก้าวหน้า และเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub และช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น 5.6 หมื่นล้านบาท ด้วยเพราะเป็นการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการแพทย์สมัยใหม่ที่เป็นเมกะเทรนด์ระดับโลกที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต แนะภาครัฐและเอกชนผสานความร่วมมือเร่งสนับสนุนการลงทุน วิจัย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ช่วยต่อยอดให้การแพทย์ไทยมีการแพทย์มูลค่าสูงและเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงไว้พร้อมให้บริการ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นโยบาย Medical Hub ถูกหยิบยกให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ที่เป็น 1 ใน 13 หมุดหมายสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub และศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูงแถวหน้าของเอเชีย ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันจากหลายประเทศทั่วโลก และกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการ upgrade วิวัฒนาการใหม่ ทันโลก ทันสมัย โดยมุ่งไปสู่การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ เนื่องจากเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยติดปีกให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูงทั้งใน “อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และที่สำคัญคือการบริการทางการแพทย์” ที่เป็นจุดเด่นสำคัญและไทยมีความพร้อมมากที่สุด
“อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนการใช้ AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาว และสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 30-40% แตะระดับ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้”
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสของ “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI” มาแรงอย่างมาก และกลายเป็นอีกก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้พูดถึงและเริ่มนำ AI มาใช้ในองค์กรมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้แก่ 1) การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ 2) ความต้องการด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 3) ข้อมูลด้านสุขภาพที่มีมากขึ้น 4) ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง 5) การเติบโตและความก้าวหน้าของการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ โดยเรามองว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นจิกซอว์สำคัญที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จะเข้ามาช่วยต่อยอดและผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้
น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า สำหรับ 5 เทรนด์เทคโนโลยี AI ด้านการแพทย์ที่น่าจับตามอง ที่จะเข้ามาเสริมทัพให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยรุดหน้าทัดเทียมนานาชาติ ได้แก่ 1) Robot Assisted Surgery หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 2) Virtual Nursing Assistants หรือผู้ช่วยพยาบาลเสมือนจริง 3) AI ช่วยวินิจฉัยโรค 4) AI in Drug discovery หรือการใช้ AI ในการค้นคว้าและพัฒนายารักษาโรค 5) Hospital Workflow Management หรือการนำ AI มาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งทั้ง 5 เทรนด์ ดังกล่าว จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ในหลายมิติ และเราประเมินว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรวม เนื่องจากในปัจจุบันการนำ AI มาใช้ในองค์กรของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก คาดว่า มูลค่าตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 353 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ และจะช่วยสร้างมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจากนี้ (2567-2577) ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี การยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี AI ของไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการลงทุน การสอดประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้าน AI และด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem
ทีม Marketing Strategy
5 เมษายน 2567