6 กรกฎาคม 2564: กรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการในช่วงดึกของวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา จากรายงานข่าว เปลวไฟได้โหมลุกไหม้อย่างรุนแรงพุ่งสู่ท้องฟ้ามองเห็นได้ในระยะไกล มีการระเบิดเป็นระยะ ๆ แรงอัดจากการระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนที่อยู่โดยรอบได้รับความเสียหาย และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ต่อมาในช่วงเช้า เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) สั่งอพยพประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ต่อมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ออกคำสั่งสำรวจสาเหตุของอุบัติภัยครั้งนี้ และมีมาตรการดูแลประชาชนเบื้องต้น รวมถึงศึกษาการปนเปื้อนสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบอื่น ๆ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซประเทศ กล่าวว่า “เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นอีกครั้งหนึ่งในจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนที่สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ต้องเผชิญกับอุบัติภัยสารเคมีร้ายแรงที่ต้องบันทึกลงฐานข้อมูลอันยาวเหยียดของความเสี่ยงภัยทางอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะ ในจังหวัดสมุทรปราการซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537
อนึ่ง โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อยู่ในเครืออุตสาหกรรม Ming Dih Group Corporation จากไต้หวัน โดยเป็นฐานการผลิตโฟม EPS(Expandable Polystyrene) [1] กำลังการผลิต 30,000 ตันต่อปีเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปทั่วโลกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541[2] ข้อมูลจากชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน กรมควบคุมมลพิษที่เข้าตรวจสอบค่าสารมลพิษในพื้นที่เกิดเหตุ ระบุว่าสารเคมีที่ถูกไฟไหม้ คือ
สไตรีนโมโนเมอร์ ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งเมื่อมีการเผาไหม้ หากสูดดมจะมีผลต่อร่างกายและระบบประสาท อาการเบื้องต้นคือ ปวดหัว มึน ระคายเคืองต่อผิวหนัง แสบตาหากได้รับในปริมาณสูงอาจจะชักและเสียชีวิต การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลงและการตอบสนองช้าลง
“มาตรการของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการบรรเทาและเยียวผลกระทบเฉพาะหน้า นั้นยังไม่เพียงพอและไม่มีอะไรรับประกันว่า ชุมชนและสังคมไทยโดยรวมจะไม่เผชิญกับผลกระทบจากอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมซ้ำซากเช่นนี้อีก สิ่งที่วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้คือ การผ่านร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที” ธารา กล่าว
หลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายและนำเอา PRTR [3] ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมรวมถึง :
- กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ
- ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน
- การลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน
- ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน
- การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ
- การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ
- เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี
“เราต้องเจอกับการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายต้องรับรองกฎหมาย PRTR ที่ก้าวหน้าเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นธรรมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม” ธารา กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ :
[1] Expanded PolyStyrene (EPS)คือวัสดุพลาสติกโฟมสีขาวที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีสไตรีน ที่เป็นของแข็งใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ ฉนวน ฯลฯ มีสารตั้งต้นคือสไตรีน และ Pentane ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและผลพลอยจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
[3] รายละเอียดเพิ่มเติมว่าด้วยการขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน http://www.earththailand.org/th/document/139 อุบัติภัยอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและ PRTR https://www.greenpeace.org/thailand/story/18384/toxic-prtr-law-in-thailand/