ปัจจุบันการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ ทักษะที่รอบด้าน มีเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน โดยหลักสูตร The NEXT Real ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้านอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยชินวัตร จะเข้ามาตอบโจทย์ต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้กับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่อย่างมืออาชีพ โดยเปิดหลักสูตรมาแล้วถึง 6 รุ่น ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ได้เปิดรับสมัครผู้เรียนหลักสูตรนักอสังหาริมทรัพย์ รุ่นที่ 7 และ 8 ชูจุดแข็ง “Experience Sharing” ดึงกูรูชั้นนำในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ คอยให้คำปรึกษาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้ ความสำเร็จ ความผิดพลาด ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นก่อน เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ให้ก้าวพ้นจากความผิดพลาดอย่างมืออาชีพ
รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยชินวัตร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้เปิดหลักสูตรสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตัวจริง ภายใต้ชื่อ “The NEXT Real” เป็นหลักสูตรระยะเวลา 4 เดือน จากวิทยากรชั้นนำ มุ่งเน้นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตำราบ่มเพาะองค์ความรู้ มุมมอง และทักษะทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ผ่านรูปแบบการแบ่งปันประสบการณ์ (Experience Sharing) ให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในแต่ละสภาพเศรษฐกิจทุกยุคสมัย มีการสอนการสร้าง Conection สร้างรูปแบบ Network เฉพาะกลุ่ม เสมือนพี่สอนน้องแลกเปลี่ยนการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน ให้เกิดกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้และต้องการพัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย กลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ที่เพิ่งสร้างตัวในการเข้ามาบุกเบิก ผนวกกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่าที่มากด้วยประสบการณ์คอยแนะนำร่วมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยให้แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน สมารถรับมือกับทุก ๆสถานการณ์ของแวดวงตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างถ่องแท้
นับตั้งแต่เปิดหลักสูตรมาในปี พ.ศ.2559 มีบุคคลทุกธุรกิจในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม เจ้าของกิจการ และผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งสิ้น 664 คน เป็นเพศชาย 65% และเพศหญิง 35% มีสัดส่วนผู้เรียนแบ่งตามอายุนั้น 50% จะเป็นกลุ่มผู้เรียนในช่วงอายุ 35-50 ปีน้อยกว่า 30 ปี 30% และอีก 20% เป็นผู้ที่เรียนในช่วงอายุมากกว่า 50 ปี และผู้เรียนที่อายุมากที่สุดคือ 65 ปี
ในปี พ.ศ. 2562 นี้ เปิดรับสมัครผู้เรียนรุ่นที่ 7 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และจะเรียนทุกวันศุกร์ตลอดเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2562 ส่วนรุ่นที่ 8 เปิดรับสมัครถึงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 และจะเรียนทุกวันศุกร์ ตลอดเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2562 โดยเปิดรับผู้เรียนจากทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 60%, กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ 20% , กลุ่มผู้มีที่ดินที่ต้องการพัฒนา หรือ Pre-developer 10% และ 4.กลุ่มผู้สนใจทั่วไป อีก 10% ซึ่งทั้งสองรุ่นจะมีโอกาสดูงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย และได้ร่วมกิจกรรมมากมายกับเครือข่ายนักเรียน The NEXT Real จากทั่วประเทศ ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ใน Real Estate Ecosystem (ระบบนิเวศด้านอสังหาริมทรัพย์)
จุดแข็งของ The NEXT Real
บริสุทธิ์ กาสินพิลา ผู้อำนวยการหลักสูตร The NEXT Real และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ The NEXT Real คือมีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” ของวงการจำนวนมาก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว การทำงานต้องมีความรอบคอบ มีแผนรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง วิกฤตการเงิน การผ่อนชำระเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อนำมาพัฒนาในแต่ละโครงการควรมีแผนอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ ประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นเสมือนทางลัดให้แก่ ผู้เรียนในการนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ อีกทั้งเป็นการสร้างบุคลากรทางอสังหาริมทรัพย์ ที่มีคุณภาพสู่ตลาด เพื่อยกระดับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยให้ทัดเทียมสากล โดยหลักสูตร The NEXT Real เปิดโอกาสให้ทุกคนได้รู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และได้ก้าวเป็นส่วนหนึ่งของ Real Estate Ecosystem อย่างเต็มตัว เพื่อจะได้มีทักษะพร้อมรับมือทุกความท้าทายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต
แนะมีแผนรับมือทุกวิกฤต อย่าประมาทในการทำธุรกิจอสังหาฯ
อนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งหลักสูตร The NEXT Real กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่สภาวะชะลอตัวจากปัจจัยทางด้านการเงินที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ เริ่มมีการเข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ด้านอสังหาริมทรัพย์เริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยจะสู้ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากไม่มีกำลังเงินที่พร้อมชำระคืนธนาคารและสถาบันการเงิน อีกทั้งตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติชะลอตัวลง และตลาดภายในประเทศของลูกค้าคนไทยเองเริ่มชะลอตัวเช่นกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่เริ่มมีสัญญาณ Over Supply บางทำเล เนื่องจากมียอดขายเทียม มียอดจองเทียมเข้ามากแต่ผู้ซื้อจริงไม่มีโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ที่ไม่มีโครงการรัฐบาลขนาดใหญ่ตัดผ่าน เช่น โครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนราคาที่ดินในใจกลางเมืองที่แข่งขันกันขึ้นราคา ทำให้ราคาห้องพัก ราคาบ้านที่สร้างต้องปรับราคาขายขึ้นตามไปด้วย ได้สร้างภาระให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อยากขึ้น
“อยากแนะนำนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุก ๆ ค่ายควรหันมาใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะเพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งเสมือนน้ำซึมบ่อทราย ค่อย ๆ ทำให้เศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีปัญหา แต่ไม่ถึงขนาดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากในปัจจุบันนี้ธนาคารและสถาบันการเงินมีแผนรับมือไว้อย่างดี มีเงินทุนสำรองพอช่วยเหลือ หากผู้ประกอบการที่คาดว่าจะเกิดปัญหาทางการเงินเข้าไปขอรับคำปรึกษาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะหนี้เสียเกิดขึ้นที่อาจจะส่งผลกระทบให้กิจการถูกปิดลงได้เช่นกัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ควรมีแผนรับมือไว้ในทุก ๆ วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร จะพลิกเกมอย่างไร และต้องหันมาพัฒนาและขายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดจริง ๆ ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะยิ่งธุรกิจมีปัญหา ยิ่งต้องหาความรู้อย่าประมาท เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นได้ แค่จะเกิดมาก เกิดน้อย และเกิดในช่วงเวลาใดเท่านั้นเอง” อนันต์ กล่าว