กรุงเทพฯ- ประเทศไทย : บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำในประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาท่าเทียบเรือชุดดี (Terminal D) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านการให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับแนวหน้าของโลกด้วยการเสริมทัพให้กับปั้นจั่นยกตู้สินค้า ด้วยระบบปฏิบัติการอัจฉริยะควบคุมจากระยะไกลชุดใหม่ ที่ทำงานทั้งหมดด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น และลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบัน ท่าเทียบเรือชุดดีของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาท่าเทียบเรือแห่งนี้โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นหนึ่งในต้นแบบของท่าเทียบเรือที่ใช้ระบบปฏิบัติการควบคุมจากระยะไกลแบบเต็มรูปแบบ และล่าสุดได้นำเข้าเครื่องจักรยกขนตู้สินค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล (Remoted Control Ship to Shore Cranes) จำนวน 4 คัน ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Remote-control Rubber Tyred Yard Cranes) จำนวน 8 คัน ซึ่งทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้าและรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (Reach Stacker) จำนวน 3 คัน ที่จะเข้าประจำการที่ท่าเทียบเรือชุดดี ณ ท่าเรือแหลมฉบังในเดือนมิถุนายน 2565
นอกจากนี้ภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมรับมอบรถบรรทุกไร้คนขับ ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ (Autonomous Truck) จำนวน 9 คัน และรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จำนวน 9 คัน
นับตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2559 ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ท่าเทียบเรือชุดดี ของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมฉบังยังคงเดินหน้าในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้ในการขนส่งสินค้าทางทะเลในปัจจุบัน
ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกลชุดใหม่ของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย มีระบบการทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถจัดการกับตู้สินค้าได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น โดยผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตามการทำงานของอุปกรณ์ได้จากศูนย์ควบคุมส่วนกลางเพียงจุดเดียวผ่านกล้องวงจรปิดมากถึง 19 ตัว นอกจากนี้ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าควบคุมจากระยะไกลสุดล้ำนี้เป็นการผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ระบบปฏิบัติการหน้าท่า ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันการยกตู้สินค้ากระแทกตู้ที่กีดขวาง ระบบป้องกันและตรวจสอบตู้สินค้า ขณะที่ระบบกึ่งอัตโนมัติยังช่วยให้การยกขนและวางตู้สินค้าทำได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ระบบ Chassis Position System (CPS) ยังช่วยกำหนดตำแหน่งการจอดรถหัวลากสำหรับรับ-ส่งตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยเสริมในเรื่องความปลอดภัย และระบบ Smart Landing System ที่ทำให้สามารถจัดวางตู้สินค้าทั้งบนรถและบนเรือให้มีความปลอดภัยและตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้อีกด้วย
สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Remote-control Rubber Tyred Yard Cranes) ยังผนวกความสามารถในการทำงานที่เสริมเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น Anti-Collision Automation System ระบบสื่อสารระหว่างปั้นจั่นเพื่อป้องกันไม่ให้ปั้นจั่นเคลื่อนเข้าหากันเอง, ระบบ Gantry Position and Auto Gantry Steering System ที่ช่วยให้ปั้นจั่นเคลื่อนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และระบบ Target Detection System ที่ช่วยตรวจสอบความสูงของตู้สินค้าในแถวเดียวกันและแถวต่อไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ของปั้นจั่นเพื่อช่วยในการวางตู้สินค้าได้ตรงตำแหน่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อท่าเทียบเรือชุดดีของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีความยาวหน้าท่าถึง 1,700 เมตร และความลึกหน้าท่า 16 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีระบบควบคุมจากระยะไกลสุดทันสมัยสำหรับการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าทั้งหมด 17 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง 43 คัน ที่จะสามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าต่อปี ณ ท่าเทียบเรือแห่งนี้ได้ถึง 3.5 ล้าน TEU (สำหรับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต)
มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นับเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นซึ่งจะช่วยย้ำเตือนถึงเป้าหมายของเราสู่การเป็นผู้ประกอบการท่าเรียบเรือที่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งยังสามารถช่วยให้การปฏิบัติงานนั้นมีความราบรื่นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
เรายังคงเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางเรือระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิ นอกจากนี้ เครื่องมือชุดใหม่เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมศักยภาพของท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับโลกเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ยังช่วยผลักดันในด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งทำให้เราสามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
มร. สตีเฟ้นท์ กล่าว