ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ GISTDA เปิดเผยว่า การทดลองในอวกาศและสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือ Microgravity ตลอดจนการสำรวจอวกาศในโครงการ National Space Exploration หรือ NSE ตามแนวทางการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ ESS Frontier Research เป็นบทบาทสำคัญที่ GISTDA ต้องการจะให้ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการสำรวจ ศึกษา วิจัย และใช้ประโยชน์จากอวกาศให้มากที่สุด โดยเริ่มจากการเสริมสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ด้านอวกาศของประเทศ ด้วยการสรรหางานวิจัยที่มีคุณค่าจากนักวิจัยไทยนำไปทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือ Microgravity รวมถึงทำการออกแบบและพัฒนาเพย์โหลดชุดอุปกรณ์ทดลองด้านอวกาศโดยคนไทยเอง ซึ่งความรู้จากงานวิจัยแต่ละชิ้นสามารถต่อยอดและพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้
ที่ผ่านมา GISTDA ได้สร้างความร่วมมือกับองค์กรอวกาศนานาชาติ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปยังมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านการประชุมวิชาการ และการทำเวิร์คชอป เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัยทุกระดับทราบถึงวัตถุประสงค์ของงานและเกิดการทดลองในสิ่งใหม่ๆ
ตั้งแต่วันที่ 20 – 30 ธันวาคมนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มปริมาณสารต่อต้านมะเร็งจากกระเทียมพันธุ์ตาแดง Alliun sativum” มาทำการทดลองในสภาวะอวกาศ ณ ห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือ Micro-X ร่วมกับ ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการของ GISTDA และหัวหน้าโครงการ NSE และห้องปฏิบัติการ Micro-X ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP โดยการทดลองจะศึกษาพฤติกรรมของสารต่อต้านมะเร็งจากหัวกระเทียมที่เกิดขึ้นในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำทั้งแบบ Microgravity ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกันกับที่นักบินอวกาศปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศ และ Hypergravity ซึ่งเป็นการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วง 2G ที่เป็นแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าโลก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองอยู่
สำหรับงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของปวัตร เจริญวงศ์ นักเรียนระดับเกรด 11 จากโรงเรียนสาธิตมหิดล ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition 2022 ของ สวทช. โดยปวัตร ได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบแรก คือ รอบไอเดียวิทยาศาสตร์โดดเด่น และรอบต่อไปคือจะต้องนำไอเดียที่ผ่านการคัดเลือกไปทำการทดลองวิจัยให้สำเร็จ และนำผลการวิจัยที่ได้ไปแข่งขันกับผู้ผ่านการคัดเลือกรายอื่นๆ ช่วงกลางปีหน้า จากนั้น สวทช. จะส่งผู้ชนะเลิศไปแข่งขันยังสหรัฐอเมริกาต่อไป
ดร.ณัฐวัฒน์ กล่าวอีกว่า GISTDA พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่จะเป็นหัวใจหลักในการสำรวจอวกาศให้กับประเทศ หากใครมีผลงานวิจัยที่ต้องการจะทดลองในอวกาศ สามารถติดต่อได้ที่ GISTDA เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยให้ไปไกลถึงอวกาศ
ด้าน ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการของ GISTDA และหัวหน้าโครงการ NSE และห้องปฏิบัติการ Micro-X กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้เคยส่งข้อเสนองานวิจัยเรื่องการทดลองเพาะเลี้ยงพืชตระกูล Wolffia หรือ ไข่น้ำ ในอวกาศเพื่อการพัฒนาระบบพยุงชีพบนดาวอังคาร มาแล้วด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันเพย์โหลดสำหรับการเพาะเลี้ยงไข่น้ำในอวกาศได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเตรียมการผลิตและส่งไปทดลองบนสถานีอวกาศ ซึ่งคาดว่าดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้