เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จัดกิจกรรม “Site Visit: Food Pilot Plant Facilities #3 เปิดบ้านเครือข่าย Food Innopolis ภาคเหนือ” ในโครงการ “Tea & Coffee Innovation Trip” เพื่อเรียนรู้ระบบชาและกาแฟ ทั้งในเชิงศิลปะและอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ เครื่องมืออุปกรณ์ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชาและกาแฟ รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศในอนาคต ณ จังหวัดเชียงราย
Food Innopolis พร้อมหนุนผู้ประกอบการชา-กาแฟ เร่งทำนวัตกรรมมากขึ้น
สุธีรา อาจเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Food Innopolis สวทช. กล่าวว่า Food Innopolis จะทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยได้สนับสนุนผู้ประกอบการอาหารโดยเฉพาะด้านชาและกาแฟให้มีการทำนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงระบบชาและกาแฟ
สำหรับกิจกรรม Site Visit: Food Pilot Plant Facilities #3 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยี โดยหน่วยงานเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park, Chiang Mai University: STeP), คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
“ผู้ประกอบการจะได้รับความรู้ และสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และนวัตกรรมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นด้านของการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภค บริการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมี มาตรฐานการทดสอบในระดับสากล รวมถึงการบริการเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการปลูก การจัดการคุณภาพของผลผลิต และการคัดแยกคุณภาพเมล็ด การบริการลดความชื้นเมล็ด บริการคลินิกเกษตรเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งการให้คำแนะนำเพื่อการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกตามระบบรับรองการผลิต” สุธีรา กล่าว
STeP เป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ผลักดันให้เพิ่มศักยภาพงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวว่า STeP เป็นหน่วยงานในส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม (University Industry Linkage: UIL) เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้น (Tech Startups)
STeP ดำเนินงานบนพื้นฐานของการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ทั้งผลงานการวิจัย นักวิจัย เครื่องมือวิจัย ตลอดจนห้องปฏิบัติการให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีหน่วยการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภคการ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และบริการผู้ประกอบการ ด้านการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภค โดยเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงโรงงานต้นแบบ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พร้อมให้บริการทั้งหน่วยงานภายใน และผู้ประกอบการทางด้านอาหารในด้านต่างๆ ได้แก่ บริการงานการเรียนการสอนในคณะอุตสาหกรรมเกษตร บริการผลิตเพื่อทดลองตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย แหล่งความรู้ อุปกรณ์ด้านการผลิตกาแฟอะราบิกาครบวงจร
พัชนี สุวรรณวิศลกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตรศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย กล่าวว่า ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่รวบรวม ความรู้ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตกาแฟอะราบิกาแบบครบวงจร รวมถึงดําเนินการพัฒนากระบวนการแปรรูปเมล็ดกาแฟคั่วให้มีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และบริการวิชาการให้กับผู้สนใจทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟ
Plant Factory วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร ตอบโจทย์เกษตรกร – ผู้ประกอบการทุกระดับ
ผศ.ดร.ทองเลียน บัวจูม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มีหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการนี้ในส่วนของโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory กลุ่มวิจัยฟาร์มอัจฉริยะและโซลูชั่นเกษตร เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกระดับ ด้วยระบบการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ Food Machinery Research Center คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะให้การบริการทางวิชาการ และให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ทางด้านอาหาร รวมถึงกลุ่มเครื่องจักรกลอาหารทั้งภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก และผู้ประกอบการเอกชน รวมถึงศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติ (International Gastronomy Tourism Centre: iGTC) มีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่อีกด้วย
ศูนย์ความเป็นเลิศสำหรับผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร รองรับผู้ประกอบการเริ่มต้น และ SME
สำหรับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีลดความชื้นและการอบแห้ง คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถูกจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 และดำเนินกิจกรรมด้านงานวิจัย ด้านการบริการวิชาการ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมา หน่วยวิจัยฯ ได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท เกิดรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ปัจจุบันหน่วยวิจัยฯ ได้ปรับแนวทางการจัดตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศสำหรับการผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร สำหรับผู้ประกอบการเริ่มต้น และ SME เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.พัฒนาเครื่องแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีอย่างสูง เช่น การใช้ความดันสูงเทคนิค PEF RF Ohmic การแช่เยือกแข็งระบบ IQF สำหรับผู้ประกอบการเริ่มต้น และ SME 2. ให้บริการด้านเครื่องจักรอาหารสำหรับการทดสอบแปรรูปผลิต ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปชั้นสูง และ 3. จัดหาเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่เหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนในการพัฒนาเครื่องจักรตามความต้องการของผู้ประกอบการ
ภายในหน่วยวิจัยฯ มีเครื่องจักรแปรรูปอาหารสมัยใหม่ไว้สำหรับผู้ประกอบการ ทั้งเป็นเครื่องจักรที่ได้จากโครงการวิจัย และเครื่องจักรที่ได้ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นเอง เช่น เครื่องพาสเจอร์ไรซ์ด้วยความดันสูง (High Pressure Processing : HPP) เครื่องพาสเจอร์ไรซ์ด้วยเทคนิค Pulsed Electric Field : PEF เครื่องเร่งการออสโมติกด้วยเทคนิค PEFเครื่องสเตอริไลเซชั่นด้วยเทคนิค Ohmicเครื่องแช่เยือกแข็งระบบ IQF เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย เครื่องอบแห้งระบบลมร้อนด้วยกลไกต่าง ๆ
สถาบันชา มฟล. แหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยชา และผลิตภัณฑ์ชาของไทยที่มีประสิทธิภาพ
ดร จุฑามาศ นิวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า มฟล.สนับสนุนเมืองนวัตกรรมอาหารในส่วนของดำเนินงานศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานที่ให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยครบครัน มีสถานที่ และบุคลากรที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยให้บริการสนับสนุนการเรียนการสอน งานวิจัยบริการวิชาการให้กับสังคม บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าทั้งจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง ปัจจุบันห้องปฏิบัติการสอบเทียบศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน มอก.17025-2543 (ISO/IEC 17025:2005) สาขาการสอบเทียบมวล รายการการสอบเทียบเครื่องชั่งไฟฟ้า ตามวิธี UKAS-LAB14
ที่สำคัญคือ สถาบันชา ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีความพร้อมในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมีของชาและผลิตภัณฑ์ชา ให้กับผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชา นักวิชาการ นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับชาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชาของไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล โดยห้องปฏิบัติการชามีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน วัสดุอุปกรณ์และสารเคมีที่มีความพร้อมสำหรับการดำเนินงานวิจัย รวมทั้งได้มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025