EMO Hannover 2023 งานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและนำเสนอทิศทางการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ได้กลับมาจัดขึ้นอีกครั้งหลังจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยปีนี้สมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลแห่งเยอรมัน (VDW) จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-23 กันยายน 2566 ณ เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วิลปริด เชฟเฟอร์ กรรมการบริหารของสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลแห่งเยอรมัน (VDW) และฮาร์ทวิก ฟอน ซาร์ป ผู้จัดการโครงการจาก Deutsche Messe AG ได้จัดงานแถลงข่าว EMO Hannover World Tour : Bangkok Thailandเพื่อโปรโมทงานดังกล่าวให้แก่นักธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศกลุ่มอาเซียน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร
ในปีนี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Oxford Economics ของประเทศอังกฤษได้คาดการณ์ว่าเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องมือกลหรือ Machine Tools นั้นจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ถึง 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สอดรับกับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ การจัดการข้อมูลแบบอนาล็อกจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและระบบการผลิตสมัยใหม่และระบบควบคุมอัตโนมัติต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต
ดร.วิลปริด เชฟเฟอร์ กรรมการบริหารของสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลแห่งเยอรมัน (VDW) กล่าวว่า EMO Hannover ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับกลุ่มลูกค้า ทุก 2 ปี ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงผู้ผลิตระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงจะมาพบปะกันในงาน EMO โดยผู้ผลิต 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศเพื่อนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดสําหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
งานแสดงสินค้า EMO Hannover ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยจํานวน 300 คนเข้าร่วมงาน และในภาพรวมมีผู้เข้าชมประมาณ 116,700 คน จาก 149 ประเทศ ซึ่งกว่า 51% ของผู้เข้าชมงานเดินทางมาจากนอกประเทศเยอรมนี สำหรับงานEMO Hannover 2023 ในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับ ‘การสร้างนวัตกรรมการผลิต’ (Innovate Manufacturing) เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต โดย EMO จะเป็นพื้นที่ให้ผู้ผลิตสามารถสร้างเครือข่ายและติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ในแวดวงการผลิตได้ และกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรคิดค้นนวัตกรรมและวิธีการแก้ปัญหาด้านการผลิตมาจัดแสดงในงานอีกด้วย
“เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า EMO Hannover จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการผลิตที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 40 ประเทศที่โลกที่มีการจัดงาน EMO World Tour เพื่อให้ข้อมูลโดยตรงแก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมและแสดงงาน” ดร.เชฟเฟอร์ กล่าว
ดร. เชฟเฟอร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตจะช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความก้าวหน้า และเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการผลิตยังคงทันสมัยและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในการผลิตภาคอุตสาหกรรม คือการพัฒนาผลิตภาพ, คุณภาพ และความยืดหยุ่น การปรับเปลี่ยนข้อมูลจากอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาเป้าหมายทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาได้
การปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเป็นคำตอบสำหรับความท้าทายต่าง ๆ ที่บริษัทผู้ผลิตต้องเผชิญ ซึ่งความท้าทายเหล่านั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป พัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิม จำนวนการผลิตที่ลดลงและวิธีการผลิตที่ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
“กระบวนการผลิตต่าง ๆ จะต้องมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ขั้นตอนการทำงานก็ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น ยุทธศาสตร์และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เป็นประเด็นที่กำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตยังต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากนโยบายการเมือง กฎหมาย รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศใหม่ ๆ ที่มีผลบังคับใช้ เช่น ข้อตกลง Green Dealในยุโรป” ดร.เชฟเฟอร์ กล่าว
งานแสดงสินค้า EMO Hannover 2023
นำเสนอ3โซนนิทรรศการพิเศษเพื่อการผลิตแห่งอนาคต
ภายในงานแสดงสินค้า EMO Hannover 2023 จะมีโซนจัดนิทรรศการพิเศษเสนอแนวคิด ธุรกิจแห่งอนาคต (The Future of Business) ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดตลาดใหม่ การพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจโดยการนำนวัตกรรมมาใช้ กระบวนการผลิตที่ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การพัฒนาความรู้ความชำนาญอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกระบวนการผลิตใหม่ ด้วยเหตุนี้ EMO Hannover 2023 จึงเป็นเวทีสําหรับการให้ความรู้ที่หลากหลายโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่ความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่ยังครอบคลุมถึงความรู้ด้านการจัดการองค์กร ยุทธศาสตร์และวิธีการที่เหมาะสมกับบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย
ส่วนโซนจัดนิทรรศการพิเศษ การเชื่อมต่อแห่งอนาคต (The Future of Connectivity) นำเสนอเทรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 การใช้ IoT (Internet of Things) เชิงอุตสาหกรรมหรือ Industrial Internet of Things (IIoT) โมเดลธุรกิจแบบดิจิทัล (Digital Business Model) การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) การเชื่อมต่อ (Connectivity) การทำงานร่วมกันและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมทั้ง การนำแอพพลิเคชันเทคโนโลยีโลกแห่งความจริงผสานเข้ากับโลกเสมือน (Augmented Reality) และการนำความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) มาใช้
ปัจจุบัน IT และวิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับเทคโนโลยีการผลิต ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก (Data Mining) เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้น ดังนั้น Connectivity จึงเป็นพื้นฐาน สำหรับการสร้างเครือข่ายในโรงงานเอง รวมถึงเครือข่ายกับซัพพลายเออร์และลูกค้าในห่วงโซ่มูลค่าการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ภายในงานEMO Hannover 2023 จะมีโซนใหม่ที่เน้นจัดแสดงการไป IoT ในกระบวนการผลิตอีกด้วย
“เป้าหมายของเราคือการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับโรงงานดิจิทัล (Digital Factory) ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันในงานนี้” ดร.เชฟเฟอร์ กล่าว
ในส่วนของมาตรฐานอินเทอร์เฟสระบบเปิด (Open Interface Standards) สำหรับการติดต่อระหว่างเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการวางระบบเครือข่ายเช่นเดียวกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีได้ขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาภาษาเพื่อระบบการผลิตระดับโลก (Global Production Language) ที่นำ OPC UA มาใช้และเผยแพร่ให้นำภาษาดังกล่าวไปใช้งานในระดับนานาชาติภายใต้แบรนด์ umati ซึ่งภาษาการเพื่อระบบการผลิตนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ผลิตจํานวนมากในงาน EMO Hannover 2023 จะสาธิตการใช้งานระบบต่าง ๆ แบบสด ๆ รวมทั้งสาธิตการทํางานของเครือข่ายและแสดงให้เห็นว่าจะสามารถนำข้อมูลไปใช้ เพื่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดอย่างไร
นอกจากนิทรรศการพิเศษที่ผู้ประกอบการหลายรายจะมานำเสนอเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว ยังมีโซนความ ยั่งยืนของพื้นที่การผลิตแห่งอนาคต (Future of Sustainability in Production Area) นำเสนอประเด็นการผลิตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การวางแผนการลงทุน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการผลิต ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจมากในปัจจุบัน โดยหัวข้อหลักที่นำเสนอในโซนนี้ ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราเชื่อว่ายังไม่ได้ความสนใจมากเท่าที่ควรในปัจจุบันแต่เป็นประเด็นที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก
“เป้าหมายหลักข้อหนึ่งของโซนจัดนิทรรศการพิเศษนี้คือ การคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบการผลิต ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางป้องกัน แนวทางแก้ปัญหา และแนวคิดเกี่ยวกับวิชาการวางแผนการผลิตและโรงงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิธีปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การประหยัดทรัพยากรแบบวงจรปิดในกระบวนการผลิต (Closed-loop Economies) การสร้างห่วงมูลค่าแบบหมุนเวียน (Circular Value Creation) การผลิตโดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืน และการออกแบบสถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัย” ดร.เชฟเฟอร์ กล่าว
ขณะนี้มีบริษัทมากกว่า 1,300 บริษัทจาก 40 ประเทศได้ลงชื่อเข้าร่วมการจัดงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ โดยมีซัพพลายเออร์รายสําคัญของประเทศไทย ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้รวมอยู่ด้วย
“EMO Hannover เป็นเวทีที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเปรียบเทียบ และประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้โดยตรง และอาจช่วยให้ผู้ประกอบการไทย พบคู่ค้า ตรงต่อความต้องการของท่านได้ เพราะเป็นงานที่รวบรวมผู้จัดแสดงและผู้เข้าชมจากแหล่งต่าง ๆ โลกเข้าไว้ด้วยกัน” ดร. เชฟเฟอร์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย