กรุงเทพฯ – 17 มีนาคม 2563 – เอปสัน ประเทศไทย แย้มกลยุทธ์ธุรกิจ ‘Double LEAD’ ตั้งเป้าครองตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์เพื่อองค์กรธุรกิจในปีพ.ศ.2563 อีกครั้ง หลังจากบริษัทฯ ยังคงสามารถยืนตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของไทยในปีพ.ศ.2562 ได้ทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวนยูนิต ด้วยสัดส่วนการตลาด 38% และ 44% ตามลำดับ เชื่อภายใน 3-5 ปี เทรนด์พรินเตอร์จะเปลี่ยนไป โดยองค์กรจะหันมาซื้อบริการ (Service) พรินเตอร์มากขึ้น เตรียมศึกษาและตั้ง Print Center รองรับ
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีที่พ.ศ.2562 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากต่อเอปสัน ประเทศไทย เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทไอทีในตลาด เพราะจะต้องปรับกลยุทธ์รับมือกับสภาพตลาดไอทีในประเทศโดยรวมที่หดตัวลง 5.5% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนเมษายนจนปลายปี เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ บวกกับงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แผนการลงทุนและจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงแผน การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอีกด้วย ทั้งองค์กรรัฐและเอกชนจึงมีการลงทุนในสินค้ากลุ่มไอทีลดลง
“จากสถานการณ์ดังกล่าว เอปสัน ประเทศไทย คาดการณ์ว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ทั้งหมดของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2561 โดยพรินเตอร์ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุด 70% ปรับตัวลดลง 6% ขณะที่ตลาดโดยรวมติดลบ 2 Digit ส่วน Commercial & Industrial เติบโต 9% โปรเจกเตอร์ติดลบ 22% และหุ่นยนต์เติบโต 12% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงสามารถยืนตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของไทยได้ทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวนยูนิต ด้วยสัดส่วนการตลาด 38% และ 44% ตามลำดับ โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปรับกลวิธีในการจำหน่าย โดยเพิ่มความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเข้าถึงSME ทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอปสันได้มี Official Store ใน Lazada และ Shopee เพื่อทำโปรโมชั่นทางการตลาดและจัดระเบียบ ซื้อสินค้ากับร้านที่มี Certified และจะจัดกิจกรรมทางการตลาดในเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังโฟกัสในตลาด Replacement โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนจากเลเซอร์พรินเตอร์และพรินเตอร์ที่ใช้ตลับหมึกมาใช้อิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เพื่อประหยัดต้นทุนการพิมพ์และค่าไฟ รวมถึงลูกค้าที่ต้องการเพิ่มจำนวนพรินเตอร์เอปสันในองค์กรเป็นหลัก
ยรรยง กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดขายของอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ประเภทต่างๆ ของบริษัทฯ ประกอบด้วย อิงค์เจ็ท พรินเตอร์ความเร็วสูงสำหรับองค์กรธุรกิจ Epson WorkForce คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 79% เนื่องจากสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร รองลงมาคือกลุ่มพรินเตอร์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 10% ได้แก่ พรินเตอร์ฉลากอุตสาหกรรม พรินเตอร์หน้ากว้างใช้ภายในองค์กร พรินเตอร์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และพรินเตอร์ป้ายโฆษณา ส่วนกลุ่ม Epson EcoTank อิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นประหยัดเพื่อองค์กรธุรกิจทุกขนาด และกลุ่มดอทเมทริกซ์พรินเตอร์ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากยอดขาย ณ สิ้นปีงบประมาณนี้ ( 31 มีนาคม 2563) ซึ่งไม่ต่างจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้น
ตั้งเป้ารักษาตำแหน่งผู้นำตลาดพรินเตอร์ของไทย ผ่านกลยุทธ์ ‘Double LEAD’
ทั้งนี้เอปสัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของการก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยในปีพ.ศ.2563 ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายในการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดพรินเตอร์ของประเทศไทย ผ่านกลยุทธ์ ‘Double LEAD’ ซึ่งประกอบด้วย LEAD ที่ 1 การนำเสนอคุณค่า (Value Proposition) 4 ประการ ที่สามารถแก้ไขเพนพอยต์และตอบโจทย์ความต้องการด้านการพิมพ์งานภายในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ Low Total Cost of Ownership, Eco-friendly Environment, Advanced performance และ Digital Transformation ส่วน LEAD ที่ 2 คือกลยุทธ์การดำเนินงาน ผ่าน 4 กระบวนการเพื่อถ่ายทอดคุณค่าที่ได้กล่าวมาไปสู่ธุรกิจของลูกค้า ได้แก่ Launch, Educate, Assist และ Drive”
สำหรับคุณค่าทั้ง 4 ประการ ประกอบด้วย Low Total Cost of Ownership หรือต้นทุนการเป็นเจ้าของที่ถูกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องการ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตหรือรายจ่ายในองค์กรถูกลง ยกตัวอย่างเช่น อิงค์เจ็ทพรินเตอร์เอปสันที่ใช้เทคโนโลยีหัวพิมพ์ไมโครปิเอโซรุ่น และหัวพิมพ์รุ่นใหม่ PrecisionCore Line สามารถพิมพ์งานคุณภาพสูงในความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีขั้นตอนหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการพิมพ์มากมายเหมือนเลเซอร์พรินเตอร์ ส่งผลให้ราคาเครื่องและค่าพิมพ์ต่อแผ่นถูกว่า ทั้งยังช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการพิมพ์ด้วยเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 90% ด้านการบำรุงรักษาก็ยังทำได้ง่ายและถูกกว่า รวมไปถึงอายุการใช้งานยังนานกว่าอีกด้วย
ด้าน Eco-friendly Environment อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูงของเอปสันถูกพัฒนาให้ใช้พลังงานที่น้อยลง และเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมในองค์กร นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวน การพิมพ์ Heat Free) อาทิ Epson WorkForce Enterprise WFC20590 ซึ่งเป็นอิงค์เจ็ทที่ใช้พลังไฟฟ้า และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 85% รวมทั้งยังมีปริมาณของเสียน้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 59
คุณค่าที่ 3 ได้แก่ ประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น (Advanced Performance) เอปสันมีไลน์ผลิตภัณฑ์อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ที่ครบครัน มีจำนวนรุ่นจำหน่ายในท้องตลาดมากที่สุด สามารถช่วยเพิ่มความเร็วและให้ผลงานพิมพ์คุณภาพสูง รวมไปถึงรองรับการพิมพ์บนวัสดุที่มีความหลากหลายทั้งประเภท ขนาด และความหนา ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถยกระดับประสิทธิภาพการพิมพ์งานในองค์กรและธุรกิจการพิมพ์สามารถสร้างรายได้จากไลน์ธุรกิจใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Epson EcoTank M-Series ที่เป็นอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ขาวดำที่สามารถพิมพ์งานปริมาณมากได้เร็วและมีคุณภาพเทียบเท่ากับเลเซอร์พรินเตอร์ แต่ช่วยประหยัดค่าไฟและต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่นได้มากกว่า หรือ Epson SureColor T-Series ที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเวที Red Dot Design
นอกจากจะพิมพ์งานประเภท CAD สำหรับงานก่อสร้างและงานวิศวกรรม รวมถึงงานพิมพ์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน งานแผนที่ แล้วยังสามารถพิมพ์สื่อโฆษณา ประเภทโปสเตอร์ โบรชัวร์ และป้ายโฆษณา เหมาะสำหรับใช้งานภายในองค์กร
ด้าน Digital Transformation ปัจจุบัน 3 ใน 4 ของ SME ทั่วภูมิภาคอาเซียนได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และเพื่อสอดรับกับกระแสดังกล่าว เอปสันจึงมีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ประสิทธิภาพสูงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนกระบวนการ Digital Transformation ทางธุรกิจ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้นำพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของเอปสันไปใช้เสริมในกระบวนการผลิตมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่ง Epson SureColor F-Series ได้ถูกนำเข้าไปใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มไลน์การพิมพ์แบบ Print-on-demand รองรับการผลิตสินค้าตามดีไซน์และออเดอร์ของลูกค้าในจำนวนจำกัด จึงช่วยลดปริมาณสินค้าในสต็อกและลดค่าใช้จ่ายและปริมาณของเสียจาการผลิตลงได้
สอดคล้องกับข้อมูลบริษัท GFK ประเทศไทย ซึ่งสำรวจข้อมูลยอดขายปลีก 130 ประเทศทั่วโลกได้ระบุว่า ในปีพ.ศ.2562 พรินเตอร์ที่มี Wifi สามารถ Connectivity ได้เติบโต 12.5% คาดในปีพ.ศ.2563 นี้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถ Connectivity ผ่านสมาร์ทโฟน น่าจะตอบโจทย์ความต้องการและเติบโตขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
ยรรยง กล่าวว่า ในส่วนของ LEAD ที่ 2 เอปสันได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อนำเสนอคุณค่าทั้ง 4 ด้านให้แก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจของบริษัทฯ ประกอบด้วย 1.Launch หรือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการพิมพ์ทุกประเภทงาน ในองค์กรและทุกธุรกิจการพิมพ์ โดยผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายและอีคอมเมิร์ซ 2. Educate หรือการให้ความรู้แก่ลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงคุณค่าในด้านต่าง ๆ ที่เอปสันสามารถมอบให้แก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับความมั่นใจและความคุ้นเคยในเทคโนโลยีของเอปสัน รวมถึงการให้ความรู้ เพื่อเพิ่มความชำนาญแก่ทีมงานของตัวแทนจำหน่ายในการดูแลและซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ของเอปสันผ่านการจัดอบรม และสัมมนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์เชื้อ COVID-19 มีการจัดสัมมนาทางออนไลน์
3.Assist หรือการให้ความช่วยเหลือลูกค้า ทั้งในด้านการติดตั้งและการบำรุงรักษา รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการขยายแพลทฟอร์มการพิมพ์ภายในองค์กร ผ่านการใช้งานแบบเช่าเครื่องและคิดค่าบริการแบบรายแผ่น ภายใต้ชื่อ Epson EasyCare 360 สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้เครื่องพิมพ์ Epson WorkForce และบริการเหมาจ่ายแบบรายเดือนภายใต้ชื่อ Epson EasyCare Mono สำหรับกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ที่สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน โดยมีแพคเกจกลาง สัญญา 2-3 ปี ซึ่งเป็น 2 โมเดลทางธุรกิจใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการให้เช่าเครื่องพิมพ์ผ้าหน้ากว้างขนาดใหญ่เป็นม้วนในปีนี้ โดยคาดว่าจะทำยอดขายได้ 50% ของพรินเตอร์ในปีพ.ศ.2563 นี้ ในอนาคตมีแนวคิดที่จะตั้ง Print Center เพื่อให้บริการด้านการพิมพ์โดยเฉพาะด้วยเชื่อว่าภายใน 3-5 ปี เทรนด์ของพรินเตอร์จะเปลี่ยนไป โดยองค์กรจะหันมาซื้อบริการ (Service) พรินเตอร์มากขึ้นและ 4.Drive หรือการกระตุ้นลูกค้าเดิมและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เกิดความสนใจในการลงทุนกับเอปสันในอนาคต ผ่านโปรโมชั่นและกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ และมีแผนจะปรับเปลี่ยนโชว์รูมในปลายปีนี้
ในส่วนภาวะการระบาด COVID-19 นั้น ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรง แต่อาจทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงและส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในภาคธุรกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เชื้อ COVID-19 ในจีน ทำให้ยอดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์เติบโต เนื่องจากมีการปิดโรงเรียน เรียนที่บ้าน ไม่สามารถแชร์พรินเตอร์ แต่ละบ้านจะต้องซื้อพรินเตอร์ ทำให้ยอดขายเติบโต ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง
“ในปีพ.ศ.2563 นี้ เป็นปีครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งเอปสัน ประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของประเทศไทยให้ได้ไว้อีกครั้ง พร้อมกับขยายฐานลูกค้าให้กว้างออกไปสู่กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ผ่านกลยุทธ์และคุณค่าของเอปสันที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของลูกค้าได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เราต้องการให้ยอดขายเติบโตเท่ากับปีพ.ศ.2561 คือ เติบโตราว 6% และยังเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาสู่ภาวะปกติในไม่ช้า รวมถึงการอนุมัติการเบิกจ่ายของงบประมาณรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาทำงานอีกครั้ง การลงทุนในเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ขององค์กรธุรกิจก็จะเพิ่มมากขึ้น ตลาดไอทีก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง” ยรรยง กล่าวทิ้งท้าย