กรุงเทพฯ – 16 ตุลาคม 2566 : ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารกระทรวง อว. พร้อมนักลงทุน (Venture Capital) กว่า 800 คนจากทั่วทุกมุมโลกและสตาร์ทอัปไทยเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
ศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า งานนี้กระทรวง อว.โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบขึ้นมาเพื่อกลุ่มสตาร์ทอัปที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ได้มีโอกาสนําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการดึงดูดนักลงทุน VCs และ CVCs จากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัปที่เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัปและผูู้เล่นสําคัญในระบบนิเวศนวัตกรรม โอกาสในการเข้าร่วมเครือข่ายกับบุคคลผู้มีอิทธิพลในระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ระดับโลก พร้อมทั้งได้รับข้อมูลสาระสําคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดสตาร์ทอัปไทยในปัจจุบันอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวง อว.ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัปในประเทศไทย โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในแง่การสนับสนุนเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัปในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ ยังมีการสนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัปมีแนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้ดีขึ้น เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้ โดยตัวอย่างโครงการที่ อว. ได้ขับเคลื่อนอยู่ เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDEs) การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company หรือนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation (ECIP) เป็นต้น
“ประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัปที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง การที่สตาร์ทอัปไทยมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับนักลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งทุนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ไปถึงระดับสากลได้” ศุภมาส กล่าว
ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นําด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นผู้นําในการส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และความเป็นผู้ประกอบการได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะจัดให้มีแพลตฟอร์มอย่าง Chula Deep-Tech Demo Day เพื่อรองรับการเติบโต ความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของสตาร์ทอัปไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่ผ่านมา จุฬาฯ มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น ‘Chula Innovations for Society’ เพื่อนำความรู้และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และทําให้สังคมดีขึ้น และก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยที่ทําการเรียนการสอน บัณฑิตจุฬาฯ ต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ควบคู่กับความรู้ทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากผู้จ้างงานทั่วโลก และที่สําคัญไปกว่านั้น คือ การบริหารมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นสาธารณะระดับชาติและโลกเพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ดีกว่าวันนี้
“ในปี 2566 จุฬาฯ ได้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม (Chula Innovations for Society) โดยสร้างธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 100 บริษัท มีเงินระดมทุนแล้วมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งภายในปี 2569 คาดว่าจะระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” ได้มีการนําเสนองานวิจัยจากกลุ่มสตาร์ทอัปจาก 9 กลุ่ม ได้แก่ Increbio, TannD, Hiveground, EngineLife, Baiya Phytopharm, Mineed technology, Nabsolute, CELLMIDI, CrystalLyte พร้อมเจาะลึกนโยบายการสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ สมาคม และพันธมิตรทางด้านธุรกิจ นอกจากนี้ มีการบริการในด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบคลาวด์ (B2B Saas) ของไทยและซัพพลายเออร์มากมายและ รับฟังการอภิปรายในหัวข้อที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจในปัจจุบันเกี่ยวกับเทคโนโลยี Deep Tech
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ Opportunities and Ecosystem of Thailand Deep Tech Lanscape โดยมี กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมเป็นวิทยากร