ซิสโก้เผยผลการศึกษาระบุ SME ไทยที่ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล ช่วยเพิ่มมูลค่า 41,000 ล้านดอลลาร์ ให้ GDPของไทยในปี’67


วัตสัน ถิรภัทรพงศ์

กรุงเทพฯ : ซิสโก้ เผยผลการศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจ SMEในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจ SME ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินการโดย International Data Corporation (IDC) ชี้หาก SMEในไทยปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลจะเพิ่มมูลค่า 35,000 ถึง 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ GDPของไทย ภายในปีพ.ศ.2567 และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลังการแพร่ระบาดของCOVID-19

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจ SME ที่มีความพร้อมทางด้านดิจิทัลมากกว่าจะได้รับประโยชน์ 2 เท่าในแง่ของรายได้ และผลผลิตเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ภาคธุรกิจ SMEคิดเป็นสัดส่วน 85.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในไทย และสร้างมูลค่าให้ GDPถึง 43% ด้วยเหตุนี้ SMEจึงมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตหลังวิกฤต COVID-19 และ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย

ผลการศึกษาอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจ SME ชี้ว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของ SME ในไทยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพื่อสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ ขณะที่ธุรกิจ SME 50 เปอร์เซ็นต์ตระหนักว่าคู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และพวกเขาต้องก้าวตามให้ทัน ส่วนธุรกิจ SME อีก 23 เปอร์เซ็นต์กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล เนื่องจากลูกค้าต้องการ

2020 Asia Pacific SMB Digital Maturity Study

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 อย่างไรก็ตาม SME เหล่านี้ยังมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ หนึ่งในวิธีที่เราเห็นมากในช่วงCOVID-19ก็คือ การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงแพร่ระบาด ขณะที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมและข้อจำกัดบางอย่าง ผู้บริโภคเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติอีกครั้ง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล หรือDigital Transformation ของ SMEจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูธุรกิจ และช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

ซิสโก้ได้ศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจ SMEในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากธุรกิจSMEกว่า 1,400 รายใน 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน และเวียดนาม เพื่อสำรวจปัญหาท้าทายและโอกาสที่บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) พบว่า การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลมี 4 ขั้นดังต่อไปนี้ ขั้นที่ 1 Digital Indifferent บริษัทที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และไม่มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล ยังคงใช้กระดาษและแรงงาน ไม่มีการเตรียมแผนงาน ขั้นที่ 2 Digital Observer บริษัทที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล แต่ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และเป็นโครงการขนาดเล็ก โดยวางแผนงานในระยะสั้นๆ ขั้นที่ 3 Digital Challenger บริษัทที่มีกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และตอบสนองต่อตลาดในลักษณะเชิงรุก เป็นกลุ่ม Active ที่มาจากแนวคิดของผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ ในการนำไอทีมาปรับใช้ และขั้นที่ 4 Digital Native บริษัทที่มีกลยุทธ์ด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างครบวงจร ให้ความสำคัญต่อดิจิทัลเป็นอันดับต้นๆ และมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

“ในปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา SME ในไทย ส่วนใหญ่เพิ่งอยู่ในขั้นที่ 1 Digital Indifferent มาในปีพ.ศ.2563 เริ่มเห็นความก้าวหน้าของ SME ในไทย โดยSME ในไทยเริ่มขยับมาขั้นที่ 2 Digital Observer เริ่มมีการนำไอทีมาใช้ แม้จะไม่ใช่ Pro-active ก็ตาม ทั้งนี้ในภูมิภาคอาเซียน ไทยขยับแซงหน้ามาเลเซียแล้ว เป็นรองแค่สิงคโปร์ เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า SMB ในไทยเริ่มปรับใช้ดิจิทัลในกิจการมากขึ้น ” วัตสัน กล่าว

2020 Asia Pacific SMB Digital Maturity Study

ผลการศึกษาระบุว่า การจัดซื้อหรืออัพเกรดซอฟต์แวร์ไอที 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการลงทุนที่ SMEไทยให้ความสำคัญมากที่สุด ตามมาด้วยการจัดซื้อและอัพเกรดฮาร์ดแวร์ไอที 15 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนในคลาวด์ 11 เปอร์เซ็นต์ หาก SMEไทยมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มมูลค่า GDPของไทย 35,000 – 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีพ.ศ.2567 และยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

“จะเห็นได้ว่าการที่ SME ไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้จะช่วยให้ GDPของประเทศเติบโตขึัน ด้วยตอบโจทย์ทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และช่วยเพิ่มยอดขาย รวมทั้งสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริการ (Service) ด้านอื่นๆ
ด้านความปลอดภัย SME สามารถใช้บริการผ่าน Provider หรือ Cloud Service ได้ รวมทั้งโซลูชั่นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากสภาพตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาอย่างฉับไว ดังนั้น SME จึงควรทำงานกับพันธมิตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี และประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล” วัตสัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม SME ต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายอันดับต้นๆ ได้แก่ การขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งมีสัดส่วน20 เปอร์เซ็นต์ เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับ SMEในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล รองลงมา ได้แก่ ความพร้อมขององค์กรที่ไม่มีโรดแมพในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล 18 เปอร์เซ็นต์ และการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น 15 เปอร์เซ็นต์

ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ SME ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยอาศัยโซลูชั่นดิจิทัล

วัตสัน กล่าวว่า ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ SME ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยอาศัยโซลูชั่นดิจิทัล และกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่คัดสรรเป็นพิเศษสำหรับ SMEภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ Cisco Designed โซลูชันไอทีเพื่อธุรกิจขนาดเล็กที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ ล่าสุดได้จัดทำโครงการสินเชื่อใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ SME ที่ต้องการจัดซื้อเครื่องมือและโซลูชั่นที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล และบรรเทาผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ SMEจำนวนมากมียอดขายและรายได้ลดลงจนเกิดปัญหาขาดแคลนเงินสดหมุนเวียน โดยลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของซิสโก้ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และการบริการ จะได้รับสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ย 0% ซึ่งลูกค้าสามารถทำสัญญาเช่าซื้อ 3 ปี โดยผ่อนชำระค่างวด 36 เดือน เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์จากซิสโก้มูลค่า 20,000 ถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ และลูกค้าจะได้รับกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ทั้งหมดหลังสัญญาสิ้นสุด

พิธาน รอย กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจขนาดเล็กประจำเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีนของซิสโก้ กล่าวว่า ขณะนี้นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจ SME อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ได้รับประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถานศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่ธุรกิจ SMEต้องเผชิญ เนื่องจากไม่มีองค์กรใดสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้โดยลำพัง

“ที่ซิสโก้ เรามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ SME ในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร Cisco Networking Academy ได้ฝึกอบรมบุคลากรกว่า 2.5 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านไอซีทีที่หลากหลาย นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งสถาบัน” พิธาน รอย กล่าว

สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของ SME จะเพิ่มมูลค่า 2.6 – 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80 – 100 ล้านล้านบาทให้กับ GDPของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกภายในปีพ.ศ. 2567 ทั้งนี้ จากข้อมูลการคาดการณ์ของIDCยังระบุว่า GDPของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตประมาณ 10.6 – 14.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของ SMEคิดเป็นสัดส่วนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตดังกล่าว

ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของSMEในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเร่งปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 86 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจเพื่อสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ ดังเช่นกรณีการแพร่ระบาดของ COVID -19

แม้ว่าจะมีปัญหาท้าทายต่างๆ แต่SMEในภูมิภาคนี้ยังคงมีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล โดยผลการศึกษาชี้ว่า ปัจจุบัน 16 เปอร์เซ็นต์ของSMEในภูมิภาคนี้มีความพร้อมด้านดิจิทัลขั้นสูง (ขั้นที่ 3 และ 4) เปรียบเทียบกับ 11 เปอร์เซ็นต์ในปีพ.ศ. 2562 นอกจากนี้ SMEมากกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในระดับหนึ่ง และอยู่ในสถานะของ Digital Observer (ขั้นที่ 2) และมีSMEเพียง 31 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (ขั้นที่ 1)

ในภูมิภาคนี้ SME ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ยังคงเป็นผู้นำในกลุ่ม Digital Observer โดยการจัดอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม จีน ไต้หวัน และไทยได้แซงหน้าเกาหลี ฮ่องกง และมาเลเซียตามลำดับ นอกจากนี้ SMEในอินโดนีเซียและเวียดนามมีความคืบหน้าในการดำเนินงานปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save