Bluebik เผย 4 ปัจจัยสร้างโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ช่วยให้ธุรกิจรอดหลังวิกฤต COVID-19


Bluebik เผย 4 ปัจจัยสร้างโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ช่วยให้ธุรกิจรอดหลังวิกฤต COVID-19

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อการแข่งขัน เผย 4 ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเพื่อเป็นทางรอดสำหรับการทำธุรกิจ หลังสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ 1.ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หรือ สร้างธุรกิจใหม่ , 2.นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้, 3.ลดต้นทุนและเพิ่มความยืดหยุ่นและ 4.สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ

พชร อารยะการกุล

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ Gross Domestic Product (GDP) ประจำปี พ.ศ. 2563 ของทั้งโลกมีโอกาสติดลบสูงถึง 4.6% เมื่อย้อนมองดูในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาคาดการณ์กันว่าจะมีโอกาสที่จะได้เห็น GDP ติดลบประมาณ 8% แต่ในประเทศจีนจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีเพราะมีการควบคุมและมีมาตรการที่จัดการอย่างเข้มข้นในสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ GDP ของจีนเติบโตได้ประมาณ 1% สำหรับในประเทศไทยมีโอกาสติดประมาณ 8% จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ลดลงในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นหลักรายได้หลักของประเทศเนื่องจากประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญประสบปัญหา COVID-19 เช่นเดียวกับประเทศไทย

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและมองหาช่องทางในการอยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้ ด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) ซึ่งบริษัทและองค์กรควรเตรียมธุรกิจให้พร้อมในช่วงนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไรยามเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เพราะหากธุรกิจสามารถอยู่รอดและมีกลยุทธ์ที่ดี จะกลายเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา เช่น ธุรกิจค้าปลีกอาจวาง กลยุทธ์ปรับช่องทางการขายหน้าร้านเดิมให้เป็น Third Place ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 2.นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้ (Digital Platform) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็นช่วงชะลอตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นโอกาสในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการทำงานจากที่พักอาศัย เช่น การเก็บเอกสารในรูปแบบ Soft File ซึ่งสะดวกมากกว่าการเก็บเอกสารรูปแบบเดิมที่พนักงานจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศมาจัดการ การจัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารระยะทางไกล หรือการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการบริหารจัดการงานร่วมกับทีม 3.ลดต้นทุน (Cost) และเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) โดยแปลงค่าใช้จ่ายจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สู่ต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายนอกองค์กร (Outsourcing) หรือการเลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน (Software as a Service-SaaS) ซึ่งส่วนใหญ่คิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน (Pay-as-you-go) จาก จำนวนผู้ใช้ ปริมาณที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ เช่น การใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ถูก และสามารถเพิ่ม-ลดขนาดให้เหมาะกับธุรกิจได้ตลอดเวลาและ 4.สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) ควรขยายโอกาสในการทำธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการขยายกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอน เช่น การควบรวมกิจการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีโอกาสในการทำกำไร เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด พร้อมทั้งลดต้นทุนผ่านการเพิ่มขนาดการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน จนก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด

พชร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการให้บริการของ Bluebik ในช่วงครึ่งปีหลังของปีพ.ศ.2563 จะเน้นให้ความช่วยเหลือองค์กรธุรกิจและภาครัฐฯ ในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ใน 4 ปัจจัยเพือ่ให้องค์กรอยู่รอด ประกอบด้วย 1.การลดต้นทุน (Cost Reduction) และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ (Flexibility) Bluebik สามารถช่วยลูกค้าลดต้นทุนได้ด้วยการให้บริการด้าน Outsourcing เช่น การบริหารงานด้านระบบสารสนเทศ และการบริหารจัดการโครงการเชิงกลยุทธ์) ที่เป็นงานที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ซึ่งไม่คุ้มค่าในการจ้างเป็นพนักงานประจำ เพราะจะเกิดเป็นต้นทุนระยะยาว หรือการออกแบบและวางระบบคลาวด์ รวมทั้งบริการย้ายระบบขึ้นคลาวด์ ที่ช่วยประหยัดเวลาและยืดหยุ่นด้านค่าใช้จ่าย 2.การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ (Business Transformation) และการหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) Bluebik มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจใหม่และทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตามลักษณะหรือประเภทธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงให้บริการออกแบบประสบการณ์ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 3.การสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) Bluebik มีบริการช่วยลูกค้าที่สนใจขยายการลงทุนหรือสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันจากธุรกิจเดิม โดยทำหน้าที่คิดค้นกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจร่วมกันระหว่างพันธมิตร และลูกค้า และ4.การส่งเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด (Compliance Services) Bluebik มีบริการช่วยเหลือธุรกิจในการเตรียมความพร้อมรับมือพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act :PDPA) และการออกแบบธรรมาภิบาลข้อมูลรวมทั้งให้บริการที่ปรึกษา ทบทวนและวางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงต้นปีพ.ศ.2563 Bluebik ตั้งเป้าการเติบโตในธุรกิจไว้ที่ประมาณ 30-40 % แต่ด้วยเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะจบลงเมื่อไร ต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้รักษาได้อย่างแท้จริง จริงทำให้การประมาณการณ์การเติบโตในปีพ.ศ.2563 นี้ทั้งปีคิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20 % พชร กล่าว

ด้าน ฉันทชา สุวรรณจิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Chief Operation Officer (COO) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า Bluebik ยังมุ่งเน้นช่วยลูกค้าในการปรับตัวเพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจของลูกค้ามีความเชื่อมโยงและสมดุลมากขึ้นทั้งในส่วนของกระบวนการหน้าบ้านและกระบวนการหลังบ้านจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยการปรับกระบวนการทางธุรกิจนั้นจะช่วยให้องค์กรของลูกค้าไปสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆสถานการณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ลูกค้ามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีศูนย์ข้อมูลการทำงาน Big Data ที่จะเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลขององค์กรเพื่อให้ลุกค้าสามารถนำไปใช้ทำงานได้ในทุกๆที่โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปทำงานในบริษัทอีกต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพปลอดภัยที่ดีขึ้นแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 หรือโรคติดต่ออื่นๆในอนาคตได้

ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Chief Technology Officer (CTO) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทักษะด้านดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บุคลากรทันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ที่ยากจะคาดเดาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กรนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน และอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวด้านดิจิทัลก็คือ ความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม ที่สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของตนอีกด้วย โดยเฉพาะความท้าทายใหม่ๆในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขององค์ที่องค์กรจะต้องมีการวางแผนรับมือให้มีความพร้อม ไม่เช่นนั้นจะทำธุรกิจติดต่อกับลุกค้าในยุคดิจิทัลได้ยากยิ่งขึ้น

“อยากแนะนำให้องค์กรที่ยังไม่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ควรมองหาผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการวางแผนเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เนื่องจากหากทำเองอาจทำให้เริ่มต้นผิดจุดและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าต้นทุนค่าเสียโอกาสเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (และการออกแบบอินเตอร์เฟซเพื่อติดต่อกับผู้ใช้งาน สำหรับองค์กรที่มีความพร้อม อาจมองหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยทำให้ระบบการทำงานภายในเป็นอัตโนมัติมากขึ้น รวมทั้งควรนำแนวคิดการทำงานแบบทำงานร่วมกันระหว่างทีมผู้พัฒนาและทีมปฏิบัติการให้ทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการพัฒนาในการทำงานลดงบประมาณที่จะใช้ในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น” ปกรณ์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save