“BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างแม่นยำ ทุกสถานการณ์


เมื่อหนึ่งในอาการที่ต้องเฝ้าระวังของ COVID -19 คือ อุณหภูมิร่างกายสูง 37.5 จากการคัดกรองด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ดังนั้นประสิทธิภาพและความแม่นยำของเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดโรคติดเชื้อ COVID -19

ล่าสุดหนึ่งในผู้ประกอบการด้าน IoT (Internet of Things) Platform เปิดตัวนวัตกรรม “BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส ใช้เพื่อคัดกรองโรคติดเชื้อ COVID -19 ที่สามารถขยายกลุ่มสู่งานอีเว้นท์ระดับจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างรากฐานให้ผู้บริหารกิจการ ผู้ประกอบการธุรกิจ เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี และ กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ให้สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ การบ่มเพาะ และกลไกการสนับสนุนต่าง ๆ

ภลลกร พิมพ์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบร์คอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรม BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส เนื่องจากพบว่าเครื่องวัดอุณหภูมิโดยทั่วไปที่ใช้สำหรับคัดกรองในสถานที่ต่างๆ เดิมทีจะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ทำให้มีความล่าช้า รวมถึงผู้คัดกรองอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ง่าย และไม่มีการเก็บประวัติใบหน้าและอุณหภูมิ ที่สำคัญคือไม่สามารถนำไปใช้งานกลางแจ้งหรือบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม BearconCAM” ซึ่งเป็นกล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส ที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิผ่านข้อมือโดยไม่สัมผัสอุปกรณ์มีระบบตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัยพร้อมเสียงเตือน รวมถึงมีการเก็บประวัติใบหน้าอุณหภูมิ เวลาที่ตรวจวัดและพิกัดบริเวณที่ทำการตรวจวัดเพื่อนำข้อมูลไปใช้ภายหลังได้

“ จุดเด่นของ BearconCAM  นอกจากสามารถวัดอุณหภูมิได้แบบไม่ต้องสัมผัสอุปกรณ์แล้ว ยังสามารถตรวจวัดได้อย่างแม่นยำ โดยคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.3 องศาเซลเซียส  สามารถตรวจวัดได้ 20-30 คน/นาที ตัวเครื่องประกอบด้วยเลนส์คู่ ซึ่งช่วยป้องกันการปลอมแปลงใบหน้า เช่น การนำภาพถ่ายมาสแกนแทนใบหน้าจริง อีกทั้งยังสามารถใช้งานทั้งในอาคาร และกลางแจ้งได้ เนื่องจากมีระบบ Sensor 2 ตัว ได้แก่ TOF (Time of Flight) Sensor สำหรับตรวจจับระยะห่างวัตถุ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำในระยะที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งช่วยให้ตัวเครื่องสามารถแยกได้ระหว่างอุณหภูมิร่างกายกับอุณหภูมิอากาศ และ Temperature Sensor สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิที่ข้อมือและส่งผลไปยังระบบประมวลผล

ระบบมอนิเตอร์ข้อมูล

โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บบนระบบ Cloud Server ซึ่งหน่วยงานสามารถมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ได้ที่หน้า Dashboard รวมถึงการเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำไปงานจริงแล้วที่งานตรุษจีนประจำจังหวัดนครสวรรค์ที่ผ่านมา รวมถึงงานใหญ่ประจำปีอย่างงาน “ยอสวย ไหว้สา พระญามังราย ครบรอบ 725 ปีจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ทำการขอซื้อเพื่อนำมาติดตั้งที่สนามกีฬาของเทศบาล และได้ทำการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ด้วยเช่นกัน ”ภลลกร กล่าว

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการได้รับการบ่มเพาะและการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจจากโครงการ SUCCESS  ซึ่งเดิมทีทางบริษัทตั้งเป้าหมายไว้เป็นกลุ่มของโรงเรียนในสังกัดของภาครัฐ อย่าง อบต. หรือเทศบาล ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการยังไม่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งได้เพราะการทำงานกับภาครัฐจะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ SUCCESS `จึงได้รับคำแนะนำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ และเกิดการต่อยอดความคิดสู่การขยายกลุ่มเป้าหมายจากโรงเรียนสู่หน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ที่อยู่ในการดูแลกำกับของ อบต.และเทศบาล นอกจากนี้ โครงการ SUCCESS ยังสนับสนุนในเรื่องของการออกบูธและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งช่วยทำให้นวัตกรรมเป็นที่รู้จักและมีพื้นที่สื่อมากขึ้นอีกด้วย

ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวว่า โครงการ SUCCESS เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างรากฐานให้ผู้ประกอบการด้าน ธุรกิจดิจิทัล ซอฟต์แวร์ และไอซีทีทุกประเภท รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ ให้สามารถเติบโต และขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ การบ่มเพาะ และกลไกการสนับสนุนต่างๆ  เช่น การวินิจฉัยธุรกิจเพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้และการเติบโตของธุรกิจ การอบรมหรือเวิร์กชอปที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและ Startup ได้มีทักษะทั้งในด้านธุรกิจและการบริหารองค์กร การพบที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แบบ 1 ต่อ 1 ที่ช่วยเตรียมความพร้อมในการพบนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการตลาด การคิดวิเคราะต้นทุนราคาขายหรือการจัดโปรโมชั่น รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างรายได้ สร้างพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ขยายฐานลูกค้า สร้างพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ และพาออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ ผู้ประกอบการสร้างรายได้รวมกว่า 750 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มกว่า 147 ล้านบาทและมีการจ้างงานเพิ่มกว่า 190 ราย หรือนับเป็นมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท

ในปีพ.ศ.2564 โครงการ SUCCESS 2021 ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยี และ Startup ได้รับโอกาสจับคู่ธุรกิจเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยระดับแนวหน้า

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS 2021 (รุ่นที่ 19) ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 81493, 081 9131828 อีเมล seksun.sungsook@nstda.or.th หรือติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครโครงการและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/bic/ และเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/NstdaBIC/


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save