กรุงเทพฯ -12 ธันวาคม 2562 : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โชว์ “AI คัดกรองมะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” (AIChest4All) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยแพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วย โรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้อย่างแม่นยำ สูงถึง 94% พร้อมสนับสนุนให้ “แพทย์-เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” สามารถวินิจฉัยผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การผลักดันคนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรอง-เข้ารับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ด้วยการนำภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วย มาประมวลผลผ่านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อตรวจหาความผิดปกติ พร้อมระบุระดับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคผ่านเฉดสี ส่งผลให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถวินิจฉัยผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและทีมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากวัณโรค มะเร็งปอด และหัวใจผิดปกติเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยวัณโรคมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.6 ล้านคน สำหรับมะเร็งปอด มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 2.1 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.8 ล้านคน สำหรับหัวใจผิดปกติ มีผู้ป่วยมากว่า 26 ล้านคนทั่วโลก เอกซเรย์ทรวงอก จึงถูกนำมาใช้เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ ร่วมกับอาการและการตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม “รังสีแพทย์” ที่มีความชำนาญเฉพาะในการวินิจฉัยภาพถ่ายเอกซเรย์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล
ด้วยเหตุนี้ ทีมพัฒนาพร้อมด้วยทีมแพทย์ นำโดย แพทย์หญิงน้ำทิพย์ หมั่นพลศรี แพทย์หญิงสุฑารัตน์ ตั้งสกุลวัฒนา นายแพทย์อิสระ เจียวิริยบุญญา และนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีแนวคิดในการพัฒนา “AI คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” หรือ “AIChest4All” (DMS TU) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยแพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วย โรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำใน 1 นาที ด้วยการนำภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วย มาประมวลผลผ่านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เพื่อตรวจหาความผิดปกติ พร้อมระบุระดับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคผ่านเฉดสี ทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถวินิจฉัยผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ สู่การส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคและเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับนวัตกรรม “AIChest4All” (DMS TU) สามารถจำแนกประเภทภาพเอกซเรย์ได้ถึง 6 ประเภท คือ 1. ภาพถ่ายเอกซเรย์ปกติ 2. วัณโรค 3. หัวใจผิดปกติ 4. มะเร็งปอด 5. ความผิดปกติอื่น ๆ ภายในทรวงอก และ 6. ความผิดปกติอื่น ๆ ภายนอกทรวงอก โดยอาศัยการเรียนรู้รูปแบบของโรคต่าง ๆ จากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกของคนไทยและต่างประเทศ ในสัดส่วน 50:50 รวมมากกว่า 2 แสนภาพ ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำสูงถึง 94% เมื่อทำการทดสอบกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกกว่า 10,000 ภาพ ใน 1 นาที นอกจากนี้ ยังสามารถระบุบริเวณในภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงออกเป็นเฉดสี (Heat Map) ต่าง ๆ โดยแบ่งระดับตามความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่กำลังพิจารณา นับตั้งแต่ 0-100% กล่าวคือ ไล่เฉดสี จากสีเขียวเข้ม เขียวอ่อน เหลือง ส้ม และแดง ตามลำดับ
รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ กล่าวว่า ทางคณะผู้วิจัย มีความยินดียิ่งในการมอบ “AI คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐทั่วประเทศที่มีความสนใจ ให้สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่คิดมูลค่า ภายใต้แนวคิดหลัก “พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย ใช้ได้ฟรี” เพื่อเป็นการยกระดับสุขภาพที่ดีของคนไทย ด้วยนวัตกรรมที่สามารถคัดกรองและรู้ระดับการรักษาที่รวดเร็วทันใจ
สำหรับโรงพยาบาลของรัฐที่สนใจนวัตกรรมดังกล่าว จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เพื่อจะได้เชื่อมต่อและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ