“ วว.เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน…”
ข้อความข้างต้น คือ วิสัยทัศน์ ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. องค์กรวิจัยพัฒนาของประเทศ ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งสร้างให้องค์กรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา ที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดระยะเวลา 58 ปี ในการดำเนินงานของ วว. นั้น ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนา ให้บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) แก่ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs Startup พี่น้องเกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของผู้มาใช้บริการ เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
วว. ดำเนินงาน ภายใต้ พันธกิจ ขององค์กร ดังนี้
- วิจัยพัฒนาและบูรณาการด้าน วทน. เพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศ บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพ อบรมและที่ปรึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
- พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง ทันสมัย และมีธรรมาภิบาล
ตัวอย่างความสำเร็จภายใต้กรอบการดำเนินงาน วทน. ของ วว. มีดังนี้
การสนองตอบนโยบาย BCG
เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคการเกษตร และชุมชน ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน มีตัวอย่างผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้แก่
- การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “น้ำตาลพาลาทีน” ให้แก่ บริษัท น้ำตาลราชบุรี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายในท้องตลาด กำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และมีแผนการส่งออกในอนาคต
- การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันตรีผลา มีประสิทธิภาพสูงดูแลสุขภาพเหงือก ช่องปาก ฟันแข็งแรง มีมูลค่าการตลาดประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผมจากสมุนไพรตรีผลา เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด โดย วว. ทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดน่านเป็นผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัทไลอ้อนฯ นอกจากตรีผลาแล้วยังมีสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เป็นต้น
- การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท BLCP เป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ 100 %
- สารชีวภัณฑ์ วว. ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ในจังหวัดภาคกลางตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกรได้ 172.5 ล้านบาท และลดการนำเข้าสารเคมีเกษตรประมาณ 241.5 ล้านบาท
- การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ วว. นำร่องโครงการในพื้นที่จังหวัดเลย สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้ วว. บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลยดำเนินการจัดตั้ง “มาลัยวิทยสถาน” เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์
วว. เป็น Total Solution ให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ
เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ OTOP วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs Startup ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ไขปัญหาในการประกอบการด้วย วทน. นั้น วว. มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญ อีกทั้งยังให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองคุณภาพ ที่ได้มาตรฐานสากล ผ่านการดำเนินงานโดยห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการทดสอบด้านระบบขนส่งทางรางที่ได้มาตรฐานสากล ให้บริการสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง แก่ผู้ประกอบการในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ วว. ให้บริการภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 150,000 รายการต่อปี มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 3,000 คน ช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50%
ความสำเร็จในการนำ วทน. เพื่อชุมชน : STI for Area Based
จากการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการยกระดับโอทอปในพื้นที่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ โครงการ Big rock เป็นต้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนามากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เข้าไปแก้ไขปัญหา
วว. นำ วทน. ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่สอดคล้องกับบริบทในการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมการดำเนินงานตามภารกิจหลักและโครงการสำคัญต่างๆ ของ วว. นั้น สามารถผลักดันผู้ประกอบการที่นำผลงานวิจัย พัฒนา และบริการ ของ วว. ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสังคม คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
บทบาทของ วว. ในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19
ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ วว. นำความเชี่ยวชาญด้าน วทน. เข้าไปช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ ดังนี้ 1.เปิดรับสมัครบุคลากรสนองนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาว่างงาน ภายใต้ “โครงการ อว. สร้างงาน” จำนวนกว่า 270 อัตรา 2.บริการทดสอบและปรับปรุงระบบห้องความดันลบ (Negative pressure) ณ โรงพยาบาลศิริราช ในการเปิดให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ 3.ออกบทเฉพาะกาล ร่วมควบคุม ป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อ ในกิจกรรมการตรวจประเมิน รับรองระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ 4.ให้บริการทดสอบหน้ากากอนามัย รองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมเทียบเท่ามาตรฐานต่างประเทศ ช่วยเสริมแกร่งและลดต้นทุนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 5.สนับสนุนงานโรงพยาบาลสนามของกระทรวง อว. ด้วยการบริจาคเงิน เจลล้างมือแอลกอฮอล์ และหน้ากาก N 95 นอกจากนี้ในการระบาดระยะแรก ยังได้แจกเจลแอลกอฮอล์ผลงานวิจัยของ วว. ส่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวจีนและแจกให้กับพี่น้องชาวไทย กว่า 4,000 หลอด รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ วทน. ซึ่งพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ นำไปเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ครอบครัวในระยะยาว
ทิศทางการดำเนินงานของ วว.ในอนาคต
วว. มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลงานและประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนา วทน. ก้าวต่อไปในอนาคตของ วว. นั้น ยังคงยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ มุ่งดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างครบวงจร (Total Solution) พัฒนาวิสาหกิจในทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ (Area Based) ด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้ ตลอดจนร่วมกับสถาบันการศึกษาในการยกระดับความรู้ให้แก่ ประชาชน เยาวชน นักศึกษา โดยส่งเสริมให้ วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการนำ วทน. เข้าไปเสริมแกร่งการดำเนินงาน การประกอบธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมทั้งสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย วทน.
“วว. ครบรอบปีที่ 58” จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะผลิตผลงานซึ่งสามารถตอบโจทย์ของสังคม ประเทศชาติ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญให้สำเร็จเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงครอบคลุมพื้นที่กลุ่มเป้าหมายและกระจายไปสู่กลุ่มอื่น ๆ ดังที่ วว. ประสบผลสำเร็จมาแล้ว