จังหวัด “ระยอง” ถือ เป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาตามนโยบายเขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งจะมีประชากรแฝงเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว สิ่งที่ตามมาคือ ความไม่เพียงพอของน้ำกินน้ำใช้ จนอาจเกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและปัญหาการจัดการการใช้น้ำในอนาคต
เพื่อสร้างความมั่นคงในการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อผลสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านต่างๆ ในพื้นที่ EEC เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการประชุมชี้แจงแผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ ขึ้น ณ ห้องประชุม ศาลากลาง จังหวัดระยอง
แผนงานพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำใน EEC ลดการใช้น้ำในพื้นที่ EEC 15%
ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานที่ประชุมฯ กล่าวว่า แผนงานการพัฒนาระบบฯ ในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำและการวางระบบบริหารจัดการน้ำด้านอุปสงค์ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการใช้น้ำคาดการณ์ในพื้นที่ EEC ลง 15% เทียบกับข้อมูลการจัดการความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC มีความสอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดระยอง ที่มุ่งเน้นการใช้น้ำให้ทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมทุกภาคส่วน ทั้งน้ำกินน้ำใช้ น้ำภาคอุตสาหกรรม และน้ำภาคการเกษตร
“เพราะทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ เพื่อลดความต้องการน้ำ จึงคาดหวังว่าแผนงานนี้ จะเข้ามาช่วยพัฒนา กลไกเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้กับทุกภาคส่วน ด้วยการใช้ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ รวมถึงมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้ว ตลอดจนการจัดสรรน้ำให้ กับทุกภาคส่วนอย่างสมดุลเป็นธรรมและยั่งยืน” ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ กล่าว
เชื่อ “น้ำเสีย” ช่วยกู้วิกฤตน้ำพื้นที่ EEC ในอนาคต
นอกจากแผนงานการพัฒนาระบบเพื่อการบริหารจัดน้ำแล้ว เรื่องของ “น้ำเสีย” ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันอย่างมากจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะนักวิจัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ เพราะเชื่อว่า “น้ำเสีย” น่าจะเป็น อีกหนทางของการกู้วิกฤตน้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคตได้
จากโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรจะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะการ หาแหล่งน้ำเพิ่ม ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินนั้นอาจไม่พอ แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องลดการใช้น้ำลงด้วย เฉพาะในส่วนของจังหวัดระยอง ซึ่งมีการประเมินว่า ในปี พ.ศ. 2570 จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 370 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี พ.ศ. 2580 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง EEC คนส่วนใหญ่จะเพ่งเล็งไปที่ภาคอุตสาหกรรมคือต้นเหตุของปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีหลายโรงงาน รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็น อีกแนวทางหนึ่งของการเพิ่มทรัพยากรน้ำต้นทุน ที่นักวิจัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ มองกันว่าเป็นประเด็นสำคัญ
ลดการใช้น้ำ 15% ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ-ลดการสูญเสียน้ำ
พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC กล่าวว่า การลดการใช้น้ำ 15% สำหรับภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงการลดปริมาณการใช้น้ำ แต่จะหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ ด้วยภาคอุตสาหกรรม จะมีน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดและศักยภาพสามารถนำกลับมาใช้ได้ (Recycle) เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน รวมถึงมีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง (Center Treatment) ของนิคมอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับน้ำเสียได้ ในปริมาณมาก สำหรับภาคส่วนอื่น เช่น ภาคชุมชน และภาคบริการบางแห่ง ก็มีระบบบำบัดน้ำเสียเช่นกัน ซึ่งทางคณะวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนา เพื่อหาแนวทางในการนำน้ำเสียเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์
คัดเลือกโรงงาน-นิคมพัฒนาเป็นต้นแบบบริหารจัดการน้ำ ก่อนขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ใน EEC
โครงการฯ นี้ เป็นโครงการ “หวังผล” โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เพื่อลดการใช้น้ำให้ได้อย่างน้อย 15% โดยประยุกต์ใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ หรือ Smart System ที่รวมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 3R (Reuse, Reduce and Recycle) กับการใช้ Internet of Thing (IoT) ที่ช่วยเสริมให้ระบบบริหารจัดการทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น
“ตามแผนงานจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยในปีแรก จะทำการการคัดเลือกต้นแบบระดับโรงงาน จำนวน 15 แห่ง และต้นแบบระดับนิคม 2 แห่ง สำหรับรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำในปัจจุบัน ทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ โดยผู้เชี่ยวชาญ และทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3R ร่วมกับ IoT (Internet of Things) เพื่อพัฒนาเป็น “ต้นแบบหรือโมเดลการบริหารจัดการน้ำของนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานแต่ละประเภท” ก่อนขยายผลไปยังโรงงานหรือ นิคมฯ อื่นๆ ในพื้นที่ EEC และจัดทำข้อเสนอ เชิงนโยบายให้ภาครัฐเพื่อออกเป็นกฎหมาย หรือมาตรการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำอย่าง มีประสิทธิภาพต่อไป” พรรรัตน์ กล่าว
ระบบ 3R เป็นทางออกให้ภาคบริการเช่นกัน
ด้าน ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ 3R คือ Reuse , Reduce และ Recycle นั้น เป็นทิศทางที่ทำกันมาแล้วทั่วโลก โดยสหภาพยุโรปมีนำมาใช้แล้วสามารถลดการใช้น้ำ ได้ 10-50% จึงเชื่อว่าระบบ 3R จะเป็นทางออก ให้กับภาคบริการเช่นกัน
“ในฐานะนักวิจัยเรามองว่า เรื่องของ 3R ไม่ได้แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นองค์รวม คือ Circular Economy การศึกษาจึงไม่เพียงศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องศึกษาในด้านของเศรษฐศาสตร์ และแรงจูงใจทางด้านกฎหมายด้วย” ผศ. ดร.ธนพล กล่าว
โครงการนี้ในระยะที่ 1 จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ศึกษาการจัดการองค์ความรู้ 3R โดยที่ผ่านมา ผู้วิจัยได้เข้าสำรวจเก็บข้อมูลโรงงานสถานประกอบการ พร้อมถอดบทเรียน ในพื้นที่ที่ทำจริง ออกแบบและประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และที่ไม่ใช่ เชิงเศรษฐศาสตร์
บริหารจัดการน้ำด้วยหลัก 3R
ผศ. ดร.ธนพล กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำด้วยหลัก 3R ว่า เมื่อเราใช้น้ำแล้ว แทนที่เราจะบำบัดแล้วปล่อยออก เราจะเพิ่มการบำบัดอีกขั้นหนึ่งให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ เบื้องต้นเราตั้งเป้าการนำกลับมาใช้ใหม่แบบ Non Portable คือ ไม่สัมผัสร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับ Black Water คือน้ำเสียจากสุขภัณฑ์/ส้วม และ Gray Water น้ำเสียจากกระบวนการอื่น ๆ
โดยผลผลิตในระยะที่ 1 (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี) คือแบบทางวิศวกรรมของระบบ 3R ที่มี IoT เข้าช่วยสำหรับภาคบริการ 6 ประเภท คือ กลุ่มธุรกิจการค้า, กลุ่มสถานบริการและที่พัก, กลุ่มสถานศึกษา, กลุ่ม โรงพยาบาล, กลุ่มสถานีบริการเชื้อเพลิง, และ กลุ่มตลาด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและสหกรณ์ นอกจากนี้ผลผลิตสำคัญคือการวิเคราะห์ว่า ภาคส่วนใดของภาคบริการที่มีโอกาสในการทำ 3R เพื่อลดการใช้น้ำและนำ น้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด พร้อมทั้งการประเมินทางเศรษฐศาสตร์เพื่อ พัฒนามาตรการทางนโยบาย และกฎหมายในการสนับสนุนให้เกิดการนำระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการที่ศึกษาในโครงการนี้มาใช้งานจริง
“ในปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 จะมีการทำต้นแบบการใช้ระบบ บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการที่ศึกษาในโครงการระยะที่ 1 กับสถานประกอบการจริง และเก็บผลสัมฤทธิ์จริงเพื่อเป็นต้นแบบสู่การขยายผลในระดับประเทศต่อไป” ผศ. ดร.ธนพล กล่าว
Source: วารสาร Engineering Today ปีที่ 18 ฉบับที่ 175 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ EEC โดย กองบรรณาธิการ