สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) และสมาคมไทยซับคอน พร้อมด้วยพันธมิตรภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายและสมาคมในภาคอุตสาหกรรมจัด 3 งานใหญ่ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจรในประเทศไทย ได้แก่ อินเตอร์แมค ซับคอน ไทยแลนด์ และ พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023 ในระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของไทยถือเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ได้รับการยอมรับในตลาดสากล โดยทาง BOI ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดงานซับคอน ไทยแลนด์ 2023 ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมาย โดยที่ผ่านมา ซับคอน ไทยแลนด์ ถือเป็นเวทีธุรกิจที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่รวบรวมผู้ผลิต ผู้ซื้อ และซัพพลายเออร์ในภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมารวมไว้ในงานเดียว ทั้งนี้ งานดังกล่าวถือเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้มีโอกาสพบปะและเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก โดยในการจัดในแต่ละปีจะมีผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับงานซับคอน ไทยแลนด์มาร่วมงานไม่น้อยกว่า 10 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เบลเยียมและเยอรมนี และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่างเชื่อมั่นและเข้าร่วมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาร่วมงานกว่า 500 บริษัท “นอกจากนี้แล้วจะมีกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจที่ถือเป็นไฮไลท์ที่สำคัญในทุกๆครั้งของการจัดงาน คาดว่าในปีนี้จะมีการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 4,000 คู่ โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและโดรน คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในงานไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท” นฤตม์ กล่าว ในส่วนของ BOI นอกจากมีบูธภายในงานเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาสอบถามสิทธิประโยชน์ในการขอรับการสนับสนุนการลงทุน พัฒนาผู้ประกอบการ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการทุกๆประเภทรวมทั้ง SME เช่น ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนหนึ่งยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น แล้วยังมีการร่วมจัดหัวข้อสัมมนาและส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงทั่วโลก ทำให้การจัดประชุมและนิทรรศการทุกๆด้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่การจัดการประชุมและนิทรรศการระดับภูมิภาคที่ต่างประเทศให้ความสนใจและเข้ามาร่วมมากมายในทุกๆการจัดประชุมเช่นเดียวกับงานประชุมและสัมมนาภาคอุตสาหกรรม งานอินเตอร์แมค ซับคอน ไทยแลนด์ และ พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023 หวังเป็นยิ่งว่าผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้าร่วมงาน ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาจะได้เข้าชมนวัตกรรม เทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมที่ก่อประโยชน์แก่การนำไปตอยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดไอเดียใหม่ๆสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป
มนู เลียวไพโรจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี พ.ศ. 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจาก COVID-19 คลี่คลาย และมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวรับนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้แผนการลงทุนภาครัฐมีการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนโยบาย BCG Model ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นฟูกลับมามีศักยภาพอีกครั้ง
สำหรับการจัดงานอินเตอร์แมค 2023 ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในเสริมสร้างศักยภาพให้กับภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในมิติอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมและการรับช่วงการผลิตระดับนานาชาติชั้นนำของอาเซียน โดยจัดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 39 ปี ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วนและที่สำคัญถือเป็นเวทีระดับภูมิภาค อินเตอร์แมคในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Leading Beyond Success in the Industrial Manufacturing” หรือ “อีกขั้นของความสำเร็จ ครบทุกอุตสาหกรรมการผลิต” ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 1,500 แบรนด์ จาก 45 ประเทศ และ 4 พาวิลเลียนจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สิงค์โปร์ มีแบรนด์ชั้นนำโดยมีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายร่วมนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดของ Machining Center และ Machining Tooling ศูนย์รวมเทคโนโลยีงานโลหะแผ่น (Sheet Metal) ที่รวมเทคโนโลยีไว้มากที่สุดของประเทศ รวมถึงโซนกิจกรรมพิเศษ เช่น IAR PAVILION ที่รวมทุกโซลูชัน เพื่อการลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ Showcase จัดแสดงการพิมพ์ 3 มิติ นอกจากนี้ยังมีโซนกิจกรรมจากหน่วยงานสำคัญต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม เช่นโซนให้ความรู้ด้านการจดทะเบียนเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
พร้อมกันนี้มีการจัดงานสัมมนาหัวข้อที่สำคัญ เช่น INTERMACH Forum Future Automotive ปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การบำรุงรักษาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม กระบวนการออกแบบเครื่องมือแพทย์และสัมมนาอื่นๆ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานนำไปต่อยอดไอเดียทางธุรกิจ
ส่วนงานพลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023 งานแสดงเทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางแบบครบวงจรในประเทศไทยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Circular Plastic Manufacturing Transition for Sustainability Solutions” หรือ “การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตพลาสติกเพื่อการก้าวสู่ความยั่งยืนร่วมกันในภาคอุตสาหกรรมอนาคต” ซึ่งอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ได้จับมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสมาคมที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดงาน โดยภายในงานจะได้พบกับเทคโนโลยีเครื่องฉีดพลาสติก และเม็ดพลาสติก จากบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมงานกว่า 40 บริษัท
ไฮไลท์สำคัญภายในงานทุกคนจะได้พบกับเทคโนโลยีแม่พิมพ์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อควบคุมมลพิษจากกระบวนการผลิตโดยบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มพันธมิตร นอกจากนี้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2566 อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยภายในงานอีกด้วย
สำหรับความคาดหวังของการจัดงานอินเตอร์แมค ซับคอน ไทยแลนด์ และ พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023 นั้น ทางอินฟอร์มาอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเวทีสร้างโอกาสให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน นำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยี โซลูชัน ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า และเทรนด์ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ประกอบการชาวไทย ชาวต่างชาติและผู้ที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย โดยทั้ง 3 งาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ภายใน Hall 101-104 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ