กรุงเทพฯ -19 กุมภาพันธ์ 2563 : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ครบรอบ 25 ปี จัดงานสัมมนานานาชาติยิ่งใหญ่ “International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success” เดินหน้าผลักดันยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ในทุกภาคส่วน ในการเพิ่มทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร ให้สามารถเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง มุ่งสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืนและเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างเผชิญกับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาการติดอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Countries) มาเป็นเวลานาน ด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัด เช่น ขาดแคลนประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมที่เพียงพอที่จะเร่งให้อัตราการเติบโตของรายได้สูงเหมือนในอดีต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความสามารถและศักยภาพของประเทศ
สำหรับแนวทางที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ คือ ต้องยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยการใช้ทรัพยากรรอบ ๆ ตัว อย่างคุ้มค่าและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ APO Productivity Database พบว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2513-2558) ล้วนแต่เกิดจากการบริโภคทรัพยากรและปัจจัยทุนต่าง ๆ เป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับผลิตภาพมากนัก จึงส่งผลให้ผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity : TFP) ของประเทศเติบโตในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP
ดังนั้นทางออกของประเทศที่จะสามารถเอาชนะปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน คือ การปฏิรูปการยกระดับผลิตภาพ (Transforming Productivity) ของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และสร้างความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม ในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความชำนาญ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลักดันด้วยนวัตกรรม/S-Curve/New S-Curve และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
อย่างไรก็ดีกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการยกระดับผลิตภาพ รวมทั้งมุ่งมั่นในการส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีส่วนในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดเป้าการเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.2 ต่อปี ภายในปี พ.ศ.2565 โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) ซึ่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นับเป็นกลไกหลักที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมไทย
ดร. พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานไปในทุกภาคส่วนไม่ได้เฉพาะแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่ยังครอบคลุมถึงภาคบริการ ภาครัฐ และ ภาคเกษตรแปรรูป เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วนของประเทศ และมีบทบาทหน้าที่ในการชี้นำ และยกระดับผลิตภาพขององค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนขององค์กรและประเทศ ภายใต้เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ได้กำหนดไว้ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ.2580 ซึ่งในมิติเศรษฐกิจ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” หมายถึง ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง อย่างไรก็ดีการพัฒนาประเทศในปัจจุบันเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งในเรื่องทรัพยากรและความท้าทายจากประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries) การเพิ่มผลิตภาพของประเทศจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญควบคู่ไปกับองค์ประกอบด้านอื่นๆในการนำพาประเทศไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
นอกจากนี้ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลจึงจำเป็นต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพราะความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการเพิ่มผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพต่าง ๆ อาทิ ลีน (Lean) ไคเซน (Kaizen) การวิเคราะห์ OEE และ Sig sigma เป็นต้น อย่างไรก็ดีในโอกาสที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติครบรอบ 25 ปี ในฐานะเป็นสถาบันแห่งชาติ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการชี้นำและยกระดับผลิตภาพขององค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนขององค์กรและประเทศ จึงได้จัดงานสัมมนานานาชาติ “International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success” ขึ้น โดยนำเสนอมุมมองการขับเคลื่อนผลิตภาพใน 4 มิติ ที่จะเป็นรูปแบบเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทัน ประกอบด้วย การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาองค์กร Industry Upgrading, Creativity & Innovation, Data Analytics and Digital Technology และ High Skilled Workforce รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศที่จะให้มุมมองรอบด้านในเรื่องความสำคัญของผลิตภาพเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร เสริมความรู้ด้านผลิตภาพให้สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป