กรุงเทพฯ – 20 เมษายน 2563 : นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอรัฐตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัส COVID-19 ในน้ำเสีย เพื่อให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น พร้อมเรียกร้องให้หยุดฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ชั่วคราวในช่วงวิกฤต COVID-19
ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน” มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันเริ่มคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงจังหวัดพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง
จากบทความในนิวยอร์กไทมส์ที่ระบุว่า สหรัฐอเมริกาต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ 3 เท่าตัวจึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ มีอัตราการตรวจที่ 10,863 ต่อประชากร 1 ล้านคน สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ 1,440 การตรวจต่อประชากร 1 ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐฯประมาณ 7.5 เท่า
สำหรับในประเทศไทยมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ในน้ำเสียหรือน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำเสียหรือน้ำโสโครกของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะ โดยวัน ๆ หนึ่งคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ 128 กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ 25-50 ลิตรต่อคนต่อวัน จากการรายงานของผู้ติดเชื้อพบว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ 630,000 Copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระถึง 30,000,000 Copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ 10 Copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย
ทั้งนี้วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข 10 Copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่าจังหวัดพิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ 866,891 คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง 90 ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ 30,000,000 Copies ต่อมิลลิลิตร หรือ 4,267 ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส 630,000 Copies ต่อมิลลิลิตร ทั้งนี้ตัวอย่างน้ำเสียหรือน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้งจังหวัดพิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ซึ่งจะประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย
ทั้งนี้สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน 1,000 คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโดฯ 200 ห้อง มีคนอยู่ 400 คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำเสียหรือน้ำโสโครกรวมของคอนโดฯ นั้น ๆ มาผสมกับคอนโดฯ อื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซน ทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกัน ก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบเชื้อ COVID-19 ก็สืบหากันต่อไป โดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโดฯ หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น หรืออาจจะทำให้ทราบประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยผู้ทำการตรวจต้องใส่ชุด PPE (Personal Protective Equipment)
“สำหรับงานเก็บน้ำเสียควรเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด สถานีอนามัยที่ได้รับการอบรมพื้นฐานมาอย่างดี ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อคดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้วการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ในน้ำเสียหรือน้ำโสโครกอาจช่วยให้เราเปิดเมืองได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัส COVID-19” ผศ. ดร.ธนพล กล่าว
ด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมืองจะทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกัน การตรวจน้ำเสียหรือน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบินหรือจากห้องน้ำของเครื่องบินเองจะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน
ผศ. ดร.ธนพล ยังมีความห่วงใยเรื่องสุขภาวะของชาวห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งคณะวิจัยและชาวชุมชนได้เข้าไปติดตามเฝ้าระวังโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วตามคำพิพากษาคดีปกครองตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการดูดตะกอนตะกั่วใส่ถุงเพื่อนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบ พบว่ามีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วจนท้องน้ำมีความขุ่นระยะทางไกลถึง 4 กิโลเมตร ซึ่งน้ำที่รีดออกจากถุงเก็บตะกอนและไหลกลับลงไปในลำห้วยโดยตรงมีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนในระยะยาว
โครงการฟื้นฟูดังกล่าวดำเนินการในช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ตามด้วยประกาศปิดหมู่บ้าน แทบไม่มีใครออกไปซื้อหาอาหารจากตลาดข้างนอก ไม่มีรถพุ่มพวงวิ่งเข้ามาขายอาหารในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงต้องจับสัตว์น้ำและเก็บผักตามลำห้วย บางครัวเรือนขาดแคลนน้ำก็ต้องใช้น้ำจากลำห้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน
“จึงอยากให้ศาลตรวจสอบและหยุดการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยชั่วคราว และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลจัดหาอาหาร น้ำดื่มให้ชาวบ้านในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 และผลพวงจากการฟื้นฟูโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วไปพร้อมกัน ด้วย” ผศ. ดร.ธนพล กล่าว