สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย “โรงรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์” จังหวัดลำพูน ผ่านการตรวจรับรองประเมินโรงคัดบรรจุตามระบบมาตรฐานสากล GMP และผ่านการตรวจประเมินโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามหลักปฏิบัติที่ดี GFP ของกรมวิชาการเกษตร ระบุลำไยเกรดพรีเมียมผลผลิตจากโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ 20 ตันแรก จะส่งออกสู่ประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมเชิญชวนเกษตรกร/ผู้ประกอบการ เข้ามาใช้บริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกลำไยสด ผัก ผลไม้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ระบบควบคุมสภาวะต้นแบบ ซึ่งเป็นโรงรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของ วว. เข้ามาใช้ในระบบ โดย วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. ให้ดำเนินการ มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการยืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ขณะนี้ได้ผ่านการตรวจรับรองประเมินโรงคัดบรรจุตามระบบมาตรฐานสากล Good Manufacturing Practices (GMP) และผ่านการตรวจประเมินโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามหลักปฏิบัติที่ดี The Good Fumigation Practices of Sulfur dioxide (GFP) ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ซึ่งจะทำให้โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถส่งออกต่างประเทศได้ในระดับสากล
“วว. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่จังหวัดลำพูน กับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ จังหวัดลำพูน และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำพูน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน Sharing Economy ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ที่ผ่านการตรวจประเมินระบบมาตรฐานสากลจากกรมวิชาการเกษตรทั้งระบบมาตรฐาน GMP และ GFP ดังกล่าว ส่งผลให้เดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการส่งออกลำไยสดเกรดพรีเมี่ยมไปยังประเทศจีน จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 20 ตันแรก โดยเป็นลำไยสดที่มีการควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำพูนฯ ที่ได้ส่งเสริมการปลูกกว่า 1,000 ไร่ แล้วนำผลผลิตลำไยสดนั้นผ่านกระบวนการของโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ แห่งนี้ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของ วว. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเสริมแกร่งการส่งออกผลผลิตการเกษตรของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม” สายันต์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ มีประสิทธิภาพควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ช่วยยืดอายุการเก็บผลลำไย รวมทั้งผักและผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ได้นานขึ้น 30-45 วัน ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถการส่งออกที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ประกอบด้วยเทคโนโลยีการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3 ระบบ ดังนี้ 1) ระบบการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถควบคุมปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในเนื้อลำไยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ระบบป้องกันการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการและในพื้นที่ทำงานในโรงงาน และ 3) ระบบการควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกนอกโรงงาน เป็นระบบมีการหมุนเวียนน้ำกลับไปใช้ซ้ำไม่มีการระบายน้ำทิ้ง และได้ผลพลอยได้เป็นยิปซั่ม สามารถใช้เป็นวัสดุปรับปรุงสภาพดินได้
“วว.ขอเชิญชวนกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้ามาใช้บริการโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เราพร้อมให้บริการแก่ทุกท่าน” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวทิ้งท้าย