กรุงเทพฯ – ประเทศไทย – 8 มิถุนายน 2565 : โนเกียนำเสนอโซลูชันที่ออกแบบสําหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรม 4.0 และส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนองค์กรในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลและเดินหน้าประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0
นับตั้งแต่ของรัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านหุ่นยนต์, การใช้ระบบออโตเมชันในโรงงาน, การบิน, โลจิสติกส์ และการเกษตร ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค ด้วยการนําเทคโนโลยี 5G มาใช้ครั้งแรกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโซลูชันเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล
ฐิติพันธุ์ วรกุลลัฎฐานีย์ ผู้บริหารฝ่ายขายองค์กร (Enterprise Sales Leader) บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่โนเกียเป็นผู้นําในด้านอินเตอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรม (IIoT) และเครือข่ายสําหรับอุตสาหกรรม 4.0 บริษัทฯ จึงได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบโซลูชันสำหรับองค์กร และส่งเสริมเมืองอัจฉริยะและระบบนิเวศอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยโนเกียจะนำเสนอโซลูชันที่ออกแบบสําหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรม 4.0 ตั้งแต่โซลูชัน Nokia Digital Automation Cloud (DAC) ไปจนถึง Routing Silicon รุ่นที่ 5 รวมทั้งนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปสู่ระบบปฏิบัติการ Ready 4.0 Anything Operations ซึ่งลูกค้าด้านอุตสาหกรรมการผลิตในไทยให้ความสนใจ เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้เกิดความปลอดภัย
สำหรับการเชื่อมต่อไร้สายในเครือข่ายแบบส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญในการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถหลอมรวมเข้ากับกระบวนการดิจิทัลโดยการเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งเครื่องจักร เซ็นเซอร์ และพนักงานเคลื่อนที่ ด้วยวิธีที่มีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ ปลอดภัยและน่าเชื่อถือที่สุด โดยโนเกียมีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่กว่า 450 แห่งทั่วโลกจากหลากหลายภาคส่วนที่เชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบส่วนตัวนี้ ได้แก่ ภาคขนส่งคมนาคมและราง 84 แห่ง ภาคพลังงาน 109 แห่ง ภาครัฐ 116 แห่ง ซึ่งมุ่งเน้นเมืองอัจฉริยะ การผลิต 79 แห่ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น บรรเทาสาธารณภัย และการทหารมากกว่า 63 แห่ง
“เทคโนโลยีที่มีความแข็งแกร่งที่พิสูจน์แล้วอย่าง 5G และการเชื่อมต่อในเครือข่ายไร้สายแบบส่วนตัวช่วยในการสร้างระบบต้นแบบเมืองที่มีความอัจฉริยะและมีการบูรณาการที่ช่วยวางรากฐานสำหรับเมืองแห่งอนาคตได้ เมื่อประเทศไทยยังคงเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่องค์กรในประเทศไทยจะเร่งผลักดันการยอมรับเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงการเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นดิจิทัลและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย” ฐิติพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย