กรุงเทพฯ -5 กันยายน 62 : ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน THAILAND TECH SHOW 2019 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรม 360 องศา เพื่อความยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยปีนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2562 ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แบบครบวงจรอย่างยั่งยืน ชูไฮไลท์อัพเดท 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองประจำปี 2562 และร่วมโหวตผลงานในรูปแบบ Investment Pitching จาก 11 ผลงานเด่นประจำปี 2562
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งาน THAILAND TECH SHOW 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “นวัตกรรม 360 องศา เพื่อความยั่งยืน” ซึ่งจัดในรูปแบบตลาดเทคโนโลยี มีผลงานวิจัยของสวทช .และหน่วยงานพันธมิตรที่นำมาจัดแสดง 234 ผลงาน จาก 29 มหาวิทยาลัย 8 หน่วยงานวิจัยภาครัฐ 4 บริษัทภาคเอกชน ครอบคลุมในหลายเทคโนโลยี ทั้งการแพทย์ เกษตร/ประมง เครื่องประดับ เครื่องมือ/เครื่องจักร เวชสำอาง/เวชภัณฑ์ อาหาร/เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อการเรียน แบ่งเป็น เทคโนโลยีแนะนำ (ราคาเดียว) จำนวน 36 ผลงาน และเทคโนโลยีไฮไลท์ (เจรจาเงื่อนไข) จำนวน 198 ผลงาน เพื่อเป็นกลไกเชื่อมต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีของไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ไปเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้ประเทศนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ไฮไลท์สำคัญของงาน “THAILAND TECH SHOW 2019 อยู่ที่การบรรยายพิเศษเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies To Watch) โดยดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งทุก ๆ ปี สวทช. จะเลือกมาปีละ 10 เรื่องที่น่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนใน 5 – 10 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้บางเทคโนโลยีอาจจะใกล้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ได้แล้ว ขณะที่บางชนิดอาจจะยังเป็นต้นแบบหรือการทดสอบเบื้องต้น แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบได้ในอนาคตอันใกล้
อีกหนึ่งไฮไลท์คือ กิจกรรม NSTDA Investors’ Day 2019 เป็นรูปแบบ Investment Pitching โดยให้เวลา 7 นาทีสำหรับนักวิจัยในการนำเสนอแต่ละผลงาน และให้ผู้เข้าร่วมงานช่วยกันโหวตผลงานที่น่าลงทุนที่สุด และผลงานที่นำเสนอดีที่สุด โดยปีนี้มีผลงานเด่นจาก สวทช. 5 ผลงาน และหน่วยงานพันธมิตรอีก 6 ผลงาน ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าเจรจาธุรกิจแบบ One-on-One Matching ได้ สำหรับ 5 ผลงานเด่นจาก สวทช. ได้แก่ 1) สารทำหมันสัตว์เพศผู้แบบไม่ผ่าตัด (V-HAPPY) โดย นาโนเทค สวทช. ซึ่งนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำส่งสารสำคัญที่สกัดมาจากธรรมชาติ มีประสิทธิภาพยับยั้งเซลล์การสร้างอสุจิได้ดี 2) จิ๊บจิ๊บ (JibJib CUI) โดย เนคเทค สวทช. เป็นแพลตฟอร์มระบบบริการผู้ช่วยอัตโนมัติที่สามารถโต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนคุยกับมนุษย์ 3) แพลตฟอร์มการบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล (Traffy City Platform) โดย เนคเทค สวทช. เป็นเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและสถิติที่สำคัญง่ายขึ้น ทำให้วางแผนและตัดสินใจแม่นยำ 4) นอนวูฟเวนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (Magik Growth) โดย เอ็มเทค สวทช. ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมกับการใช้งานด้านเกษตร และ 5) เบต้ากลูแคนโอลิโกแชคาร์ไลด์เพื่อใช้เสริมสุขภาพและความงาม (Betaprime) โดย ไบโอเทค สวทช. เป็นสารที่ผลิตจากเห็ดในขนาดโมเลกุลที่หลากหลาย มีคุณสมบัติเสริมภูมิคุ้มกัน ประยุกต์ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ทั้งคนและสัตว์ รวมถึงผลงานเด่นจากหน่วยงานพันธมิตร
อีก 6 ผลงานเป็นผลงานของหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ 6) กล่องโฟมอเนกประสงค์ (Healthy Box) โดย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยืดอายุการเก็บรักษาของสด 7) เครื่องปิ้งเนื้อสัตว์กึ่งอัตโนมัติ (HAS Grill Machine) โดย มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ลดการไหม้ของไขมันสัตว์ ทำให้ไม่เกิดสารก่อมะเร็ง 8) ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา (Thai Colostomy Bags) โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับถ่ายทางหน้าท้อง สามารถทดแทนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง 9) โซเดียมซิลิเกตเจลกันน้า (Hydrophobic (Sodium) Silicate Gel) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้แก้ปัญหาน้ำรั่วซึมระหว่างก่อสร้าง 10) เครื่องทำลายเชี้อแบบพลาสเจอร์ไรซ์ผสานระบบอบลมร้อนสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า และ 11) อาษาเฟรมเวิร์ค (ARSA Framework) โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแพลตฟอร์มในทุกสรรพสิ่ง (Platform of Things: PoT) ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) หรือควบคุมอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ผ่าน Cloud และ Smart Devices เป็นต้น ซึ่งผลจากการพิชชิ่ง ปรากฏว่า ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผลงานที่น่าลงทุนที่สุด ส่วนผลงานอาษาเฟรมเวิร์ค จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอดีที่สุด
ภายในงานยังมีบูธบริการจาก สวทช. ที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น การให้คำปรึกษาเทคโนโลยี การบ่มเพาะธุรกิจ รวมทั้งบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม อาทิ เงินร่วมลงทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การรับรองธุรกิจเทคโนโลยีหรือรับรองงานวิจัยเพื่อขอยกเว้นภาษี และการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเข้าถึงตลาดภาครัฐ และร่วมรู้จักกับบริการการประเมินศักยภาพธุรกิจเทคโนโลยี TTRS ที่ช่วยผู้ประกอบการไทยทำการวิเคราะห์ข้อมูลและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไม่สะดุด ตลอดจน Shopping Zone ที่เป็นบูธจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาและบรรยายพิเศษในหลายหัวข้อ เพื่อเสริมความรู้ทั้งในด้านนวัตกรรมสุขภาพ อาหาร และพลังงาน อีกทั้งยังมีหัวข้อการเสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ และอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมกับอุตสาหกรรมสุขภาพในอนาคต Lifestyle กับ ผู้บริโภครุ่นใหม่ พลังงานเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ Tech Funding Evaluation Model และธุรกิจเทคโนโลยี เข้าถึงแหล่งทุนอย่างไรไม่ให้สะดุด เป็นต้น