กรุงเทพฯ – 9 กรกฎาคม 2563 : สสว.หนุนขับเคลื่อนสหกรณ์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานรากจับมือ 4 พันธมิตร “พลิกสหกรณ์ไทย สู่ สหกรณ์ 4.0” เต็มรูปแบบ
ดร.ปณิตา ชินวัตร ที่ปรึกษา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการให้ชุมชนได้เรียนรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ ภายนโยบายดังกล่าว สสว. จึงจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด “พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0” แบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจัดต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 3
ในปีนี้สสว.ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร โดยมีเป้าหมายสหกรณ์ 100 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตร ที่มีความพร้อมพัฒนาตนเอง เตรียมตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ ในยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่เป็นแหล่งเรียนรู้ระหว่างสมาชิกสหกรณ์ต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการดังกล่าว บูรณาการความร่วมมือผ่าน 4 พันธมิตร ได้แก่ สสว. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยสสว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ และได้มอบให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ โดยมี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมระดับปานกลางและทั่วไปที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อเข้าร่วมโครงการ ทีเส็บ ร่วมผลักดันแหล่งผลิตและสินค้าสหกรณ์พร้อมสู่การออกตลาดในประเทศและต่างประเทศและ บมจ.บางจากร่วมพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับสหกรณ์เพื่อต่อยอดสินค้าเกษตรให้มีนวัตกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระจายสินค้าสู่ช่องทางเครือข่ายของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสร้างสหกรณ์ 4.0
“ที่สสว.เลือกทำกับสหกรณ์ เนื่องจากมีสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเลือกอบรมสหกรณ์ต้นแบบ 100 แห่ง เพื่อเป็นเครือข่ายในการพัฒนาวิสาหกิจฐานราก โดย ISMED จะร่วมกับ TCEB ให้ความรู้ทางด้านดิจิทัลแก่ Micro SME ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยปีหน้าจะเพิ่ม SME เข้าไปด้วย” ดร.ปณิตา กล่าว
วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกร ทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกและชุมชน โดยมุ่งให้สหกรณ์บริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปีนี้กรมฯ มีโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GMP, เกษตรปลอดภัย,เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น จากนั้นสหกรณ์จะทำรวบรวมสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค
“สำหรับความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับ สสว. ในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพในการแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 100 แห่ง เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 เพื่อให้สหกรณ์เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิด ด้วยวิธีดำเนินการแบบโมเดลธุรกิจยุคใหม่ สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งให้สหกรณ์โกอินเตอร์ได้ พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง สนับสนุนให้สหกรณ์มีช่องทางและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ต่อไป
ดร.จุฑามาศ ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ภาคเหนือ หรือ TCEB กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มสหกรณ์เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเพื่อพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย สำหรับสหกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพสู่สหกรณ์ 4.0 TCEB จะทำหน้าที่ต่อยอดสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมพร้อมต้อนรับและบริการนักธุรกิจที่เข้ามาศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชมเพื่อนำไปต่อยอดสร้างช่องทางการตลาดการขายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศต่อไป
“ปีนี้เป็นปีแรกที่ TCEB ทำงานร่วมกับ สสว. เพื่อให้ได้สินค้าที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดย TCEB จะเน้นสร้างช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” ดร.จุฑามาศ กล่าว
ธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า วิธีการทำให้สหกรณ์เติบโตและแแข็งแกร่ง มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้านคือ 1.การนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ 2.เข้าใจความต้องการของตลาด โดยนำความต้องการของตลาดมาพัฒนาการผลิตและจัดทำแผนโมเดลธุรกิจ ซึ่ง ISMED ได้เพิ่มเข้ามาในปีนี้ 4.ให้สหกรณ์มีความร่วมมือกัน (Collaboration) เช่น การขนส่งสินค้าจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง หรือการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและ 4.หมั่นทบทวนความรู้และอัพเดทอยู่เสมอ
ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากมีสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด 1,200 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มากกว่า 50% เป็นปั๊มสหกรณ์ ในปีนี้บางจากมองว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น โดยถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆให้สหกรณ์
ด้าน สุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด หนึ่งในสหกรณ์ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ในช่วง 3-4ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ศักยภาพของสมาชิกไม่เพียงพอและก้าวทันกับตลาดที่เติบฌตอย่างรวดเร็ว การที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสสว. จัดทำโครงการเศรษฐกิจฐานราก 4.0 ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานระดับหนึ่ง
“วันนี้โจทย์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการสินค้าแปรรูปพร้อมรับประทาน เช่น ไส้กรอก โดยสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนมองไปที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV รวมทั้งแก้ปัญหาข้อจำกัดของโรค โดยแปรรูปเป็นอาหารปรุงสุก ซึ่งจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยทางด้านการตลาดและจัดทำแผนธุรกิจ” สุรชัย กล่าว