กรุงเทพฯ – 1 เมษายน 2563 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแพลตฟอร์ม DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19
โดยมี ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยจาก สวทช. ได้แก่ ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ร่วมสาธิตและเผยแพร่ผลงาน
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับภาวะการระบาดที่อาจจะยืดเยื้อยาว และร่วมวางแผนรับมือในระยะยาว เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม สร้างความเชื่อมั่น และเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์ทั้งในส่วนของการติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ในขณะนี้ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดังนี้ คือ
– แอพพลิเคชัน DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 สวทช. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาแอพพลิเคชัน DDC-Care มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อCOVID-19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ
ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอพพลิเคชัน DDC-Care ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาตรวจและผลตรวจออกเป็น Positive กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตั้งแอพพลิเคชัน DDC-Care ด้วย
สำหรับแอพพลิเคชันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ทดสอบกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะทำการส่งลิงก์ผ่านทาง SMS ซึ่งจะต้องมีการสมัครและ Log in เข้าไปใช้งาน กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะต้องรายงานสุขภาพให้กับกรมฯ ได้ทราบในทุกวัน
ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ทดลองกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จำนวน 173 ราย และมีผู้ติดตั้งแอพพลิเคชันแล้ว 20 คน ซึ่งมีจำนวนน้อย เนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้งานจริงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
ในส่วนของการแสดงผลข้อมูลประกอบด้วย 2 มิติ คือ มิติแรกในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค จะสามารถติดตามการรายงานสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงฯ สถานภาพการกักตัวในที่พักอาศัย หากออกไปนอกพื้นที่จะสามารถติดตามการเดินทางและติดต่อผู้ที่มีความเสี่ยงได้ การนำเสนอข้อมูลผู้ที่มีความเสี่ยงฯ มี 4 ระดับ ได้แก่ ประเทศ เขต จังหวัด และโรงพยาบาล โดยขึ้นกับสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฯ และอีกมิติหนึ่งคือ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูล มีแบบประเมินสุขภาพ เมื่อทำแบบประเมินทุกวัน จะมีผลการประเมินตอบกลับว่ามีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นจะมีคำแนะนำให้โทรฯ มาที่กรมควบคุมโรค
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลแสดงสถานะสุขภาพเพิ่มเติมหลังจากกรอกข้อมูลสุขภาพแล้ว กรมฯ จะมีคำแนะนำซึ่งผู้ใช้ระบบจะได้ประโยชน์ในการปฏิบัติตัวในแต่ละวัน ในส่วนของกรมฯ แล้ว ระบบ DDC-Care จะเป็นเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงฯ ให้อยู่ในพื้นที่กักตัวเอง และดูผลของข้อมูลสุขภาพ ทั้งนี้หากมีสุขภาพแย่ลงจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงจะทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยได้ ตลอดจนเป็นส่วนที่จะช่วยให้โรงพยาบาลได้จัดสรรเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งข้อมูลที่ได้กรอกเข้าระบบนี้จะเป็นข้อมูลความลับเท่านั้น