แพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ COVID-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เบื้องต้นพบว่า ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม แนะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงขอให้ประเมินตนเองแล้วฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent โดยเร็ว
หลังการเฉลิมฉลองและความสนุกสนานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ข่าวโรคระบาดอย่าง COVID-19
ก็กลับมาอีกครั้ง หนึ่งในผู้ติดเชื้อโCOVID-19 รายใหม่ จ.ขอนแก่น ระบุว่า หลังเทศกาลสงกรานต์คนสนิทติดเชื้อCOVID-19 จึงได้เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อวันแรกก็ยังไม่พบ ก่อนที่วันที่ 2 จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และวันที่ 3 อาการเริ่มชัดเจน อ่อนเพลียมากขึ้น มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส จึงตรวจ ATK อีกครั้งแล้วพบว่าติดเชื้อCOVID-19 หลังจากตรวจพบก็มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และไข้สูงต่อเนื่อง จึงกินยาลดไข้ตามอาการ โดยซื้อยาเอง และโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล
ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าว ระบุอีกว่า แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังติดเชื้อ โดยเป็นการติดครั้งแรก ซึ่งส่วนตัวก็กังวลกับสถานการณ์COVID-19 โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดติด แล้วตัวเองติดด้วย ขณะเดียวกันยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับโCOVID-19 สายพันธุ์ใหม่อีก และคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์เชื้ออาจจะแพร่กระจายจนทำให้ผู้ติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า COVID-19 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นการกลายพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณตำแหน่งที่เรียกว่าโปรตีนหนาม ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีคุณสมบัติแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่เบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น
อย่างไรก็ตาม หลังสงกรานต์มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 158 เท่าในประเทศไทย แต่ต้องย้ำว่า ก่อนสงกรานต์เป็นช่วงที่โรคเงียบสงบ ดังนั้น 158 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นจำนวนหลักร้อยคน
“ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม หากถามว่าต้องกังวลไหม อาจตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไปก่อน” ผศ.นพ.วันทิน กล่าว
สำหรับอาการของ COVID-19 นั้น อาจจะแยกความแตกต่างกับอาการไข้หวัดใหญ่ได้ยาก เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกัน คือ มีทั้งไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และล่าสุดสำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16
มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการตาแดงด้วย แต่อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก็ยังสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด
ผศ.นพ.วันทิน กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 ภายใน 3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อใหม่ เพราะแม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์แต่การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่โดดเด่น แต่หากติดเชื้อและฉีดวัคซีนนานแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อใหม่ได้
การป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดใหม่ คือ วัคซีน Bivalent ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน โดยมีผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนชนิดเดิม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้
“หากใครยังมีภูมิคุ้มกันดีก็ให้พิจารณาแล้วแต่บุคคล แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงบุคลากรการแพทย์หน้าด่านที่ต้องดูแลผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองแล้วฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนก็ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือแออัด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ ผศ.นพ.วันทิน กล่าวย้ำ