บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมระดับโลกจากประเทศเยอรมนี นำผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุด จำนวน 18 รายการ มาร่วมจัดแสดงภายใน “งานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022” หวังกระตุ้นยอดขายในปี พ.ศ.2565 เติบโตตามเป้า 21%
ไมก้า เชฟพาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประธานฝ่ายอะไหล่ทดแทน บริษัท แชฟฟ์เลอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์ COVID-19 และอื่นๆเข้ามากระทบในหลายๆช่วงของการดำเนินธุรกิจ ทางบริษัทฯ ก็ยังมั่นใจว่าประเทศไทยยังเป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีทำเลที่ตั้งฐานการผลิต บุคลากรและวัตถุดิบที่ดีมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้บริษัทฯสนใจเข้ามาลงทุนด้านยานยนต์อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯนำมาจัดแสดงภายใน “งานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022” มีด้วยกันจำนวน 18 รายการ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ล่าสุดในส่วนของโซลูชันอี-โมบิลิตี้ แบริ่ง ระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์แชสซีทั้งหมด โดยครอบคลุมถึงระบบการจัดการความร้อนแบบครบวงจรที่จะช่วยควบคุมอุณหภูมิของแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถปรับการทำงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพการทำงานในสถานการณ์จริงด้วย
นอกจากนี้ยังมีเพลาไฟฟ้า 3-in-1 แบบบูรณาการขั้นสูง ซึ่งได้ผสานรวมมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังไว้ภายในระบบเดียว เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีการผสานรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมรรถนะสูงเข้ากับระบบโดยรวมได้อย่างราบรื่น และนวัตกรรมล่าสุดจากแชฟฟ์เลอร์ ตลับลูกปืนล้อ TriFinity รุ่นล่าสุด ซึ่งเป็นลูกปืนล้อสามแถวที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับระบบส่งกำลังที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถรับน้ำหนักเพลาได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น และมีความทนทานสูง
ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าระบบไฮบริด ซึ่งรวมถึงระบบสั่งงาน ไฮดรอลิกอัจฉริยะ (Smart Hydraulics Actuation System) แบบออลอินวันที่มีขนาดกะทัดรัดสำหรับเพลาไฟฟ้าแบบสปีดเดียว และชุดเฟืองแพลเน็ตทารี่สำหรับระบบส่งกำลังทั้งแบบไฟฟ้าและแบบไฮบริด รวมทั้งยังจัดให้มีการสาธิตระบบ Smart OverRun System ซึ่งเป็นระบบกลไกวาล์วไฟฟ้าที่ช่วยลดภาระงานสำหรับเครื่องฟอก ไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงบิดลากน้อยลงและระบบสตาร์ท-สต็อปที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
สำหรับการเติบโตด้าน อีโมบิลิตี้ในประเทศไทยนั้น แม้ยังไม่มีตัวเลขการประกอบในประเทศไทย แต่ในอนาคตไม่เกิน 5 ปี คาดว่าจะมีตัวเลขที่ชัดเจน ส่วนความคาดหวังในการนำผลิตภัณฑ์จัดแสดงภายในงานนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมที่บูธประมาณ 300-350 คน ตลอดการจัดงาน และมีผู้สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ภายในงานช่วยกระตุ้นยอดให้เติบโตตามเป้า 21% ในปี พ.ศ.2565 ได้
ซานโตส ปูจารี ประธานฝ่ายเทคโนโลยียานยนต์ บริษัท แชฟฟ์เลอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสอย่างมากในการขับเคลื่อนภาคส่วนยานยนต์อย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่อนาคตของพลังงาน คาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ที่ยั่งยืนยังครอบคลุมถึงความต้องการมอเตอร์ขับประสิทธิภาพสูงที่เกี่ยวข้องกับ CO2 โดยตรงด้วย ด้วยโซลูชันที่ครอบคลุมสำหรับมอเตอร์ขับแบบทั่วไปที่มีประสิทธิภาพสูงในด้าน CO2 และมอเตอร์ขับแบบไฟฟ้าทั้งระบบของบริษัทฯแล้ว บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น และเป็นนวัตกรรมล่าสุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถกำหนดรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วย
“ทั้งนี้บริษัทฯ มองเทรนด์ ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่รองรับการช่วยลดคาร์บอนต่ำ ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมัน ซึ่งฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นทำเลที่เหมาะสมเพราะมีการอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รองรับอยู่แล้วทำให้เข้าใจระบบการผลิตและมีความชำนาญในการผลิต นักลงทุนเชื่อมั่น แต่ก็ต้องดูนโยบายภาครัฐของประเทศไทย ความคุ้มทุนและโอกาสในการทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะใช้วิธีร่วมทุนกับบริษัทของประเทศไทยที่มีการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว หรือลงทุนเองในอนาคตจากนี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมด้วย” ซานโตส ปูจารี กล่าว
ด้านชัชวาล ส้มจีน กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรงงานของแชฟฟ์เลอร์ในประเทศไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ 2 จังหวัดชลบุรี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนานวัตกรรม โซลูชันเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานให้เข้ากับภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น
“เรามั่นใจว่าฐานการผลิตธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมีโอกาสดำเนินธุรกิจยานยนต์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยเป็นทั้งฐานการผลิต OEM ส่งออกไปยังต่างประเทศและจำหน่ายในประเทศที่มีศักยภาพมาตรฐาน มีงานวิจัย ผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาเสริมในตลาดแรงงาน มีคณะที่สอนอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับมหาวิทยาลัยเปิดรองรับมากขึ้น มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาลงทุนและได้รับการส่งเสริมภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่สำคัญในการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้อีกมาก” ชัชวาล กล่าว