กรุงเทพฯ – ประเทศไทย – 6 พฤษภาคม 2564: e-Residency ประกาศให้ กรุงเทพฯ เป็นจุดให้บริการรับเอกสารยืนยันตัวตน (Pick-up point) แห่งใหม่ โดยประเทศไทยถูกเลือกเป็น 1 ใน 4 จากประเทศทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการภายในประเทศ ในการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติ รวมไปถึงการเข้าถึงตลาดในแถบทวีปยุโรป โดยรัฐบาลประเทศเอสโตเนีย เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้ง e-Residency ซึ่งถือเป็นระบบพลเมืองดิจิทัลรายแรกของโลก
E-Residency เป็นสตาร์ทอัพจากรัฐบาลของประเทศเอสโตเนีย ก่อตั้งในปี 2014 บริการดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และนับเป็นการนำร่องแนวคิดของรัฐบาลมีต่อผู้ประกอบการชาวต่างชาติ จากการคาดการณ์จำนวนของ Digital Nomads จากทั่วโลก ที่อาจรวมตัวในภูมิภาคนี้มากถึง 5-10 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการบริการที่รองรับในด้านนี้มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเปิดตัว 4 จุดบริการใหม่นี้ในสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ บราซิล และ ไทย สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของคนทำงานที่เป็นอิสระในด้านของสถานที่ทำงาน ในระดับนานาชาติ และยังแสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาของ e-Residency ที่มีต่อการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่อาศัยอยู่นอกทวีปยุโรป
ประธานาธิบดีเคร์สตี คัลยูไลด์ แห่งเอสโตเนีย กล่าวว่า แม้ว่าทั่วโลก กำลังเผชิญอยู่กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดด้านการเดินทาง การทำงานและดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของทั้งภาครัฐบาล ธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะทำงานโดยไม่ยึดติดกับสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ทำให้เกิดความต้องการเครื่องมือที่สามารถรองรับการทำงานของพวกเขาได้ และในฐานะที่เอสโตเนียถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมรูปแบบดิจิทัล เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะต้อนรับ ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ จากทั่วโลก ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก e-Residency กับเรา
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของเอสโตเนีย ประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการเปิดตัวในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 บังคับให้หลากหลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ให้ทันต่อบริการที่หลากหลายทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ความไม่มั่นคงในเส้นทางอาชีพยังส่งผลให้หลายคน หันมาเริ่มธุรกิจของตัวเองมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้บริการจาก e-Residency จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาแนวทางขยายธุรกิจ ในช่วงที่ประเทศถูกล็อกดาวน์
หลังจากลงทะเบียนเป็น e-Resident เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะได้รับบัตรยืนยันตัวตนดิจิทัล ที่อนุญาติให้จัดตั้งบริษัทในสหภาพยุโรปได้อย่างอิสระ สามารถบริหารธุรกิจจากที่ใดก็ได้ โดยสมาชิกที่ได้รับการยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องแล้วจะสามารถเข้าถึงช่องทางบริการ e-service ต่าง ๆของเอสโตเนียได้ อาทิ การบริการที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และการเปิดตัวและดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ 100% ในสหภาพยุโรป
ทั้งนี้สถานกงสุลสาธารณรัฐเอสโตเนียประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนประชาอุทิศ มี Technology Provider ให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทยต้องการทำธุรกิจในสหภาพยุโรป และจัด Matching Partner เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการประกอบธุรกิจในเอสโตเนีย
Lauri Haav กรรมการผู้จัดการ e-Residency กล่าวว่า โครงการ e-Residency ได้ออก Digital ID Card เมื่อ 6 ปีที่แล้ว นับเป็นประเทศแรกในโลก ในปีนี้ขยายบริการจุด Pick-up point บัตร Digital ID Card 4 จุด ในสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ บราซิล และ ไทย ณ เลขที่ 399 อาคารอินเตอร์เชนจ์ ชั้น B2 ยูนิต A/1 ถนนสุขุมวิท คลองเตย วัฒนา กรุงเทพฯ สำหรับเหตุผลหลักที่เลือกไทยเป็นจุด Pick-up point” ในภูมิภาคนี้ มี 2 ประการคือ 1.ปัจจุบันโลกมีพลเมือง 8.5 พันล้านคน ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 2. หลายประเทศต้องการมาเที่ยวประเทศไทย ทั้งนี้ในปี 2025 มีการคาดการณ์ว่าเกือบ 70% ของงานจะอยู่ในท้องถิ่น คนจะเลือกสถานที่อยู่ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน ซึ่งคาดว่าจะเลือกไทยเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากธุรกิจที่ทำอยู่
โครงการ e-Residency มีบริการในรูปแบบ e-service ที่หลากหลายของประเทศเอสโตเนีย ส่วนใหญ่สภาพแวดล้อมอยู่บนดิจิทัลเกือบ 100% ที่เอื้อต่อการทำงานของสตาร์ทอัพ ทำให้มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับ UNICORN ก่อตั้งในเอสโตเนียถึง 7 แห่ง ถือได้ว่ามีอัตราส่วนของ UNICORN ที่สูงมาก เป็นรองแต่ประเทศอิสราเอล อีกทั้ง การจัดตั้งธุรกิจในเอสโตเนียทำได้ง่าย มีขั้นตอนง่าย ระบบภาษีที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ บริษัทจะจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ต่อเมื่อมีผลกำไรเท่านั้น ทำให้บริษัทใหม่เติบโตได้ นอกจากนี้มีการคอรัปชันค่อนข้างต่ำ และกฎนิติรัฐและนิติธรรมที่มีมาตรฐานสูง สามารถทำธุรกิจที่ไหนก็ได้บนออนไลน์
ปัจจุบัน มี e-Residents กว่า 80,000 คน จาก 170 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเอสโตเนีย ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน ฟินแลนด์ ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ ไทย 135 ราย สิงคโปร์ 300 ราย มาเลเซีย เวียดนาม 130-140 ราย และจีน ซึ่งได้ทำการเปิดบริษัทไปแล้วกว่า 17,000 แห่ง ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจข้ามชายแดน Programming ออกแบบ การตลาด ที่ปรึกษา ซึ่งทั้งผู้ให้บริการและรับบริการสามารถทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้บนออนไลน์
Lauri Haav กล่าวว่า สำหรับเทรนด์ใหม่ของธุรกิจคือ ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เช่น ผู้ประกอบการที่มีโรงงานผลิตสินค้า มาเข้าร่วมโครงการ e-Residency เหมือนมีบริษัทในเอสโตเนียและซื้อขายจากเอสโตเนีย เป็นต้น
สหภาพยุโรปทั้งหมดเป็น สหภาพศุลกากร มีชายแดน (Border) แห่งเดียว ใครจะผ่านไปประเทศใดก็ได้ ทำให้สามารถขยายธุรกิจในสหภาพยุโรปได้ง่าย และสามารถขายสินค้าอะไรก็ได้จากเอสโตเนียไปยังประเทศในสหภาพยุโรป
กรรมการผู้จัดการ e-Residency กล่าว
ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 2,000 คน ถูกจ้างงานจาก e-Resident เหล่านี้ โดยบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการซื้อขาย อยู่ที่ 3.68 พันล้านยูโร ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2021 และนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 e-Residency ได้ถูกบันทึกไว้ว่า ได้สร้างรายได้ขาเข้าให้กับรัฐบาลเอสโตเนียถึง 54 ล้านยูโร
ด้าน Mattia Montantri ผู้ร่วมก่อตั้งครีเอทีฟเอเจนซี่ Resonance ซึ่งควบคุมการดำเนินธุรกิจผ่านการทำงานระยะไกล (Remote) จากบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า e-Residency เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคต ทั้งนี้การทำงานระยะไกลไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นเส้นทางใหม่ในการประกอบธุรกิจ โดยประเทศเอสโตเนียเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ ผ่านระบบพลเมืองดิจิทัล และคาดว่าอีกไม่นาน หลากหลายประเทศจะดำเนินการในแนวทางนี้เช่นกัน สำหรับ ประโยชน์หลักในการเป็น e-Resident ของเอสโตเนีย คือการลดอุปสรรคในการก่อตั้งบริษัทในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินงานโดยไม่ต้องผ่านระบบราชการต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจจากที่ใดก็ได้
นอกเหนือจุดให้บริการรับเอกสารยืนยันตัวตน “Pick-up point” ใหม่ในประเทศไทย บราซิล สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้แล้ว ผู้ใช้บริการสามารถรับบัตร e-Residency ได้ ณอีก 50 จุดบริการใกล้เคียงที่มีอยู่ทั่วโลก