เยาวชน PTTEP Teenergy พัฒนา “ถ่านมีชีวิต” แก้ปัญหาน้ำเสียในเชียงใหม่


เก็บตัวอย่างดิน เพื่อนำไปทดลองเลือกนำแบคทีเรีย Bacillus.ssp มาเพาะขยายจำนวน
เก็บตัวอย่างดิน เพื่อนำไปทดลองเลือกนำแบคทีเรีย Bacillus.ssp มาเพาะขยายจำนวน

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 เวลาผ่านไปมากว่า 10 ปีจนถึงปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เว็บไซต์ AirVisual ซึ่งจัดอันดับค่าดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลก (World AQI Ranking) เคยรายงานตัวเลขที่ระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในบางช่วงสูงกว่าระดับ 100 แสดงถึงความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐาน และคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

นอกจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว เชียงใหม่ยังต้องเผชิญกับมลพิษทางน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันอีกด้วย สาเหตุมาจากการทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่มีสาหร่ายสีเขียวขึ้นเต็มไปหมด จนน้ำขาดออกซิเจน ส่งผลให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ระบบนิเวศของน้ำบริเวณรอบคูเมืองเสียหาย

เยาวชนในท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งมองเห็นปัญหาดังกล่าวและไม่นิ่งดูดาย ต้องการเข้ามาช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นโครงการ “ถ่านมีชีวิต” เพื่อแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน โดยนิพัทธา กาพย์ตุ้ม หรือน้องปิ่นไพร โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า อยู่ที่นี่เกิดที่นี่ ได้เห็นปัญหามลพิษในเชียงใหม่มานานแล้ว ปัญหาน้ำเน่าในคูเมืองเกิดขึ้นทุกปี จึงอยากให้เมืองของหนูมีมลพิษน้อยลงและน่าอยู่มากขึ้น เพราะถ้าเชียงใหม่อากาศดี น้ำในคูคลองสะอาด มลพิษน้อยลงแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะประทับใจ และมาเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองเชียงใหม่ก็จะดีขึ้นด้วย

หลังจากที่นิพัทธา และเพื่อนได้มีโอกาสเข้าค่ายโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. และเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate) จึงได้คิดพัฒนาและนำเสนอโครงการ“ถ่านมีชีวิต” ร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งโครงการนี้เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนจาก ค่าย PTTEP Teenergy

นำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่าน โดยได้รับการสนับสนุนการเผาและการวิจัยจากคณะวิศวกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
นำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่าน โดยได้รับการสนับสนุนการเผาและการวิจัยจากคณะวิศวกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ภายหลังจากที่ได้รับทุนนิพัทธา และทีมก็ได้ค้นคว้าศึกษางานวิจัยต่าง ๆ จนพบว่าที่ภาคเหนือมีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก แต่ซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีเมล็ดข้าวโพดออกไปกลับถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ จึงเกิดความคิดนำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่านด้วยวิธีการทางเคมี โดยการเผาแบบกึ่งอับอากาศหรือสภาวะไร้อากาศ (Pyrolysis) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยได้รับการสนับสนุนการเผาและการศึกษาวิจัยจากคณะวิศวกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เมื่อเห็นสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่เน่าเสีย จึงพยายามหาวิธีการที่จะแก้ปัญหา ซึ่งนิพัทธา และเพื่อนได้สังเกตเห็นว่า ในขณะที่ในน้ำบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ เต็มไปด้วยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน แต่ตะกอนดินบริเวณหน้าโรงเรียนกลับไม่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอยู่เลย จึงได้นำตะกอนดังกล่าวเข้าไปศึกษาในห้องทดลอง และพบว่าในดินดังกล่าวมีแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส (Bacillus.spp) อยู่จำนวนมาก และแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสนี้ สามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาหร่ายที่ทำให้เกิดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นสาหร่ายที่ผลิตสารพิษไมโครซิสติน ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดตับอักเสบและเร่งการเกิดมะเร็งของตับ นอกจากจะมีผลกับคนแล้ว พิษของสาหร่ายชนิดนี้ยังมีผลโดยตรงต่อสัตว์น้ำหรือสัตว์บกที่ไปบริโภคน้ำที่มีสาหร่ายชนิดนี้ด้วย

ดังนั้น หากจะกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำเสียก็จะต้องเพิ่มปริมาณแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส ทุนนิพัทธา และทีมงานจึงนำซังข้าวโพดที่เผาในสภาวะไร้อากาศแล้วกลายเป็นถ่านจากซังข้าวโพดมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ และมีรูพรุนจำนวนมาก อีกทั้ง มีสารอาหารที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดี มาทำการเพาะเพื่อเพิ่มจำนวนแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส

เมื่อทดลองพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสเติบโตได้ดีในถ่านที่ผลิตจากซังข้าวโพด และสามารถนำไปกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้อย่างแน่นอนแล้ว จึงทำการทดลองเพิ่มเติมให้แน่ใจ โดยนำถ่านที่เพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทีมงาน เรียกว่า “ถ่านมีชีวิต” เพราะมีแบคทีเรียซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเติบโตอยู่ในนั้น น้องๆ ได้ทดลองนำถ่านมีชีวิตบรรจุในขวดพลาสติกเหลือใช้ แล้วนำไปจุ่มแช่ในน้ำตัวอย่างที่นำมาจากบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ในห้องทดลอง พบว่าการวางทิ้งไว้ 5 วัน แบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส สามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้หมด โดยไม่เกิดน้ำเน่าเสีย

ซังข้าวโพดแปรรูปเป็นถ่านด้วยวิธีการ Pyrolysis คือการเผาแบบกึ่งอับอากาศ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
ซังข้าวโพดแปรรูปเป็นถ่านด้วยวิธีการ Pyrolysis คือการเผาแบบกึ่งอับอากาศ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

หลังจากใช้ “ถ่านมีชีวิต” ดังกล่าวบำบัดน้ำเสียเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถนำไปบดทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืชต่อไปได้อีกด้วย และจากการทดลองปลูกพืช ก็พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พืชเจริญเติบโตได้ดีเพราะถ่านซังข้าวโพดอุดมไปด้วยแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อพืช

ในอนาคต ทีมงานมีแนวคิดจะต่อยอดโครงการ โดยนำถ่านมีชีวิตที่ผลิตได้ไปทดลองใช้จริงสำหรับการบำบัดน้ำบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่และจะนำผลการทดลองไปเผยแพร่ในชุมชนใกล้เคียงหรือชุมชนในบริเวณที่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย หากได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่สนใจ เชื่อว่าโครงการถ่านมีชีวิตนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษในเมืองเชียงใหม่ได้ต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save