หากมีการส่งเสริมที่ดี เยาวชนไทยมักแสดงความสามารถและไอเดียที่โดดเด่นออกมาได้เสมอ เช่นเดียวกับเยาวชนจากค่าย Creative AI Camp ปีที่ 3 ที่จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและ เซเว่น เดลิเวอรี่ และพันธมิตร แม้ปีนี้การเรียนรู้และการปรึกษาหารือเพื่อสร้างสรรค์ผลงานจะยังคงต้องเป็นแบบ Social Distancing ผ่านแพลทฟอร์มผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ แบบ “Phenomena Work-based Education Learning” แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ไอเดียและผลงานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ที่เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้
สำหรับผลงานจากทีม VR Smart Team ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ โดยผลงานมุ่งเน้นตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ด้านการศึกษา เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้แก่กลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติก
ธวัลรัตน์ พิริยเลิศศักดิ์ (แจน) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโยธินบูรณะ สมาชิกทีม VR Smart Team เล่าว่า อัตราการพบเด็กที่มีอาการออทิสติกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึงราว 178% เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองเป็นภาระของสังคม เพราะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ และไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียน ทีมของเธอไม่ต้องการให้เด็กกลุ่มนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงคิดว่าควรหาทางนำ AI มาสร้างสรรค์เป็นแนวทางแก้ปัญหา และออกมาเป็นไอเดียแอปพลิเคชันภายใต้ชื่อ iTeach
เนื่องจากกลุ่มผู้มีอาการออทิสติก จะสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ผ่านภาพและเสียง แอปพลิเคชัน iTeach จึงใช้ 2 เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ได้แก่ 1.เทคโนโลยีเสมือนจริง (Reality Technology) ให้กลุ่มออทิสติกส์ สแกน Flash Card รูปภาพคำศัพท์ต่างๆ ออกมาเป็นภาพแบบ AR และ VR มีเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นสื่อให้กลุ่มออทิสติกสามารถจดจำและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น 2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) สร้างตัวละครหญิงที่รับข้อมูลการประมวลผลต่างๆ จาก AI มาพูดคุยโต้ตอบกับเด็กออทิสติก โดย AI จะช่วยประเมินคำพูดและพฤติกรรมเด็ก เพื่อเลือกวิธีการสอนและท่าทางการโต้ตอบที่เหมาะสมผ่านตัวละครหญิง
นอกจากนี้ จะมีฟังก์ชันปุ่มฝึกงาน เพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถเข้าไปฝึกงานกับหน่วยงานด้านออทิสติกที่อาจประสานงานกันในอนาคต เพื่อให้เด็กๆ กลุ่มดังกล่าวได้มีโอกาสฝึกงาน ได้รับประสบการณ์และทักษะต่างๆ มากขึ้นสำหรับการใช้ชีวิต
“เรามองว่าแอปของเราจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือเด็กออทิสติกไทย ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ต่อยอด เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เด็กออทิสติกทั้งในไทยและระดับโลก” ธวัลรัตน์ กล่าว
ด้าน ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล Assistant Chief of Information Technology Officer (ACIO) และ ผู้อำนวยการสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการ กล่าวว่า ผลงานภาพรวมของเยาวชนค่าย Creative AI Camp ปีที่ 3 นี้ ค่อนข้างโดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผลงานสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (Social Impact) ไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ผสมผสานข้ามศาสตร์ ทำให้มีการเรียนรู้อย่างเข้มข้น และได้รับมุมมองที่ดีจากผู้ถ่ายทอดและกรรมการที่เป็นบุคลากรชั้นนำด้าน AI จาก 4 ชาติ ทั้ง ไทย สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก ถือเป็นการนำ AI มาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มโอกาสให้กับคนในสังคมผ่านการใช้เทคโนโลยี
“เราได้นำแนวทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Social Impact และเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech มาปรับใช้กับค่ายในปีนี้ด้วย เราจึงมีเกณฑ์คะแนนส่วนหนึ่งว่า นวัตกรรมของน้องๆ ต้องสามารถเข้าไปสร้าง Impact ในระดับภูมิภาคหรือระดับเวิลด์คลาส ซึ่งน้องๆ ปีนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยม” ดร.พงส์ศักดิ์ กล่าว