สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 สจล.” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สามารถเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติได้โดยเร็ว ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมนักศึกษาและบุคลากร สจล. ที่มีกว่า 30,000 คน ก่อนขยายผลการฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะวันละ 1,000 โดส โดยเปิดให้บริการวัคซีนวันแรก วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ขานรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19สจล.” จุดกระจายวัคซีนนอกโรงพยาบาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่มีกว่า 30,000 คน เพื่อให้สถาบันฯสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว และเมื่อฉีดวัคซีนได้ครบจำนวนตามเป้าหมายแล้ว จะดำเนินการให้กลุ่มประชาชนบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะประชาชนทั่วไปเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในพื้นที่รอบๆสจล. ที่มีความเสี่ยงจากการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นจำนวนมากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทั่วถึงนอกสจล. และจะเริ่มให้ จิตอาสาของทาง สจล. เริ่มทำการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนบุคลากรทีมีความเสี่ยงลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์เพื่อฉีดวัคซีนเป็นลำดับต่อไป
สำหรับปริมาณวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุข จะจัดส่งวัคซีนให้สถาบันฯ ได้วันละ 1,000 โดส โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ จากคลินิกเวชกรรม คณะแพทยศาสตร์ สจล. รวมถึงโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) จะเป็นผู้ดำเนินการให้ชาว สจล. ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างทั่วถึงเป็นลำดับแรกๆให้ครบก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย จากนั้นจะทยอยดำเนินการให้กับกลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะประชาชนที่ลงทะเบียนไว้กับทาง สจล.
รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อ COVID-19 นอกจากสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เราทำกันมาตลอดระยะเวลาที่เชื้อ COVID-19 ระบาดในประเทศไทยมากว่า 2 ปีแล้วนั้น ควรลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน COVID-19 ผ่านทุกๆช่องทางของทางภาครัฐ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคคลพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะเชื้อโรคยังมีความอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าการฉีดวัคซีน เพราะที่ผ่านมา ในทางการแพทย์ยังไม่พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน หากแต่พบเฉพาะผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ในสัดส่วน 2:100 ราย คือ ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 100 คนจะพบผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งภายหลังการฉีดวัคซีนหากได้รับเชื้อ วัคซีนดังกล่าวจะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อน ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้
สำหรับคำแนะนำของผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนนั้น 2 วันก่อนทำการฉีดวัคซีน ควร งดออกกำลังกายหนักหรือยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และจะต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำมากมาก และเลือกฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด สำหรับผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถทานยาได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอสังเกตอาการในบริเวณสถานที่ฉีดอีก 30 นาที หลังจากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 วัน พยายามไม่ใช้งานแขนข้างนั้น ไม่ควรเกร็งยกของหนัก และไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ในกรณีที่มีไข้ หรือปวดเมื่อยมากจนทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด กินซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ควรให้ห่างกัน 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 สจล. พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนอย่างเป็นทางการวันแรก สำหรับนักศึกษาและบุคลากร สจล. ผ่านทาง https://co-vaccine.kmitl.ac.th ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ และพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น. ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุญนาค) สจล.
สอบข้อมูลการลงทะเบียนขอรับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 สจล. ได้ที่ไลน์ไอดี @KMITLHospital (จิตอาสาหาคำตอบ) และ http://www.facebook.com/kmitlofficial