ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส เปิดตัว Keep Di บริการสุดล้ำในรูป National Insurance Bureau เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรม โดย จับเทรนด์ Web 3.0 พัฒนาแพลตฟอร์มบูโรบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ใช้ NFT ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ มอบสิทธิประโยชน์โดยตรงแก่ระบบนิเวศธุรกิจประกันภัยและผู้ใช้งาน เชื่อมั่นในศักยภาพเทคโนโลยี คาดมีผู้ใช้บริการในปีแรก 300,000 ราย ก่อนขยายสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ค้าปลีก พร้อมเล็งต่อยอดความสำเร็จสู่ตลาดต่างประเทศต่อในปีหน้า
กิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Keep Di ภายใต้บริษัท ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมล้ำหน้าที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจประกันภัยยาวนาน 22 ปี กล่าวว่า การมาของWeb 3.0 และความพร้อมของเทคโนโลยีบล็อกเชน ถือเป็นโอกาสดีที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ด้วยเครื่องมือการตลาดล้ำหน้ายุคดิจิทัลที่ให้ผลลัพธ์จริงในเวลาอันรวดเร็ว จึงพัฒนาแพลตฟอร์มบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ให้บริการมิติใหม่ด้านข้อมูลเชิงลึก ภายใต้ชื่อ Keep Di เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในธุรกิจประกันภัย ด้วยข้อมูลมือหนึ่ง (First-party Data) แบบไม่ผ่านตัวกลาง และเป็นข้อมูลเชิงลึกคุณภาพสูง สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาดได้จริง
โดย Keep Di คือแพลตฟอร์มการบริการรูปใหม่บนบล็อกเชนเป็นรายแรก ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำหน้าที่เสมือนเป็น National Insurance Bureau (NIB) ของระบบนิเวศด้านการประกันภัย โดยจะเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้งานไว้ใน NFT (Non-fungible Token) อย่างถูกระเบียบ และมีความปลอดภัยสูง
“จุดเด่นสำคัญของ Keep Di คือการมอบประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ใช้ ในลักษณะของเครื่องมือทางการตลาดที่ให้ประสิทธิภาพสูง ทั้งธุรกิจประกันภัยและผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถทำ Decentralization นำบูโรไปเสนอโดยตรงต่อธุรกิจประกันภัย ทำให้ซื้อประกันได้ในราคาที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่ดี โดยแพลตฟอร์มการบริการ Keep Di จะเริ่มเปิดให้ใช้บริการในเดือนกันยายนนี้” กิตตินันท์ กล่าว
แพลตฟอร์มบริการ Keep Di ได้รับการออกแบบและบริหารจัดการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของโลกการเก็บข้อมูลที่จะเปลี่ยนรูปแบบในการเก็บข้อมูลผู้ใช้โดยสิ้นเชิง จากเดิมผู้ประกอบการมักจะเก็บข้อมูลก็ต่อเมื่อมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ หรืออาศัยช่องทางโซเชียลต่างๆ ในการเก็บข้อมูล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง หากจะต่อยอดเพื่อนำข้อมูลมาใช้นำเสนอบริการที่ตรงใจผู้บริโภค ก็มักจะต้องลงทุนระบบไอทีเอง ไม่ว่าจะเป็น CRM และระบบวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรืออาศัยช่องทางจากคู่ค้าในการแบ่งปันและส่งต่อข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้มีต้นทุนสูง และหลายครั้งข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เหล่านี้ คืออุปสรรคที่ขัดขวางโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสายประกัน
“บริการของแพลตฟอร์ม Keep Di จะปฏิวัติรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบเดิม โดยลูกค้าเป็นฝ่ายยินยอมให้เก็บข้อมูลได้โดยตรง และข้อมูลนั้นจะถือเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนมือได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และให้ความเป็นส่วนปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่สำคัญคือ เป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง และเป็นข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกที่ผ่านการวิเคราะห์ในหลายมิติ จึงเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพสูง นำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์กลยุทธ์การตลาดเฉพาะทางของแต่ละธุรกิจ (Personalized Marketing) ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย” กิตตินันท์ กล่าว
เนื่องจาก Keep Di ทำหน้าที่เสมือนเป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูล โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานข้อมูลแต่อย่างใด เพราะการจะนำข้อมูลมาใช้ ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมระหว่างผู้ใช้และธุรกิจในระบบนิเวศประกันโดยตรง ซึ่งบล็อกเชน จะทำหน้าที่เป็นระบบโครงสร้างหลักหลังบ้าน โดยมีเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Token) เป็นเสมือนกลไกหรือเครื่องมือในการเก็บข้อมูลโดยตรงของผู้ใช้ ข้อมูลที่ถูกเก็บจะไม่สามารถนำมาทำซ้ำ และถือเป็นสินทรัพย์ของเจ้าของข้อมูลแต่เพียงผู้เดียว ด้วยโครงสร้างลักษณะดังกล่าว จึงถือได้ว่าแพลตฟอร์ม Keep Di เป็นเสมือนบูโรกลางด้านข้อมูลของระบบนิเวศประกันภัยรายแรกของโลก ที่ให้ความปลอดภัย และมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
กิตตินันท์ กล่าวว่าในเบื้องต้น ผู้บริโภคที่อยู่ในระบบนิเวศประกันภัย หรือต้องการเข้าร่วมแพลตฟอร์ม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ สามารถดาวน์โหลด e-wallet เพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในรูปของ NFT ไว้ใช้ในการแลกเปลี่ยนบริการหรือรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากคู่ค้าที่เข้าร่วมแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 รายและเป็นคู่ค้าในระบบนิเวศประกันภัยซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจหรือใช้บริการของ Claim Di อยู่แล้ว อาทิ ธนชาต ดีแทคและ DirectAsia
โดยบริษัทฯ ได้เริ่มกระจาย Token สู่ระบบนิเวศคู่ค้าด้านประกันภัยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันคิดเป็นจำนวน token กว่า 3 ล้านเหรียญ ซึ่งคู่ค้าเหล่านี้ก็จะนำ Token ที่มีไปใช้ในการทำการตลาดเพื่อมอบให้กับลูกค้าของตน ถือเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโทเคน (Tokenomics) ที่ให้ประโยชน์ทางการตลาดโดยตรงแก่ทั้งคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งเป็นผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน Keep Di มีจำนวน token ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศ 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่ง กระจายไปยังกลุ่มหลัก ได้แก่ผู้ใช้ที่เก็บ NFT ใน e-wallet และคู่ค้าที่เข้าร่วมในระบบนิเวศของแพลตฟอร์ม National Insurance Bureau ที่จะได้รับ Token ตามเงื่อนไขของบริษัทฯ โดยคู่ค้าสามารถใช้ Token ในการทำธุรกรรมต่างๆ ในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดตรงไปยังกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้งาน
“การใช้งาน Token จะอยู่ภายใต้กฎที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำหนด ซึ่งบริษัทฯ จะมีระบบควบคุมปริมาณเหรียญอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่ามูลค่าของ Token จะไม่ผันผวนเหมือน Token ทั่วไปในตลาด โดย Keep Di จะขาย Token ในเดือนธันวาคมนี้” กิตตินันท์ กล่าว
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ดาวน์โหลด e-wallet ของ Keep Di เพื่อใช้บริการบนบูโรในปีนี้ประมาณ 300,000 ราย โดยการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ NFT จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนชุดข้อมูล และในปีหน้าเมื่อระบบสมบูรณ์เต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผู้ใช้ถึง 3 ล้านราย ในขณะที่การสร้างชุดข้อมูล NFT จะสูงถึงกว่า 10 ล้านชุด ภายในปี 2024 จากนี้
กิตตินันท์ กล่าวว่า การนำศักยภาพของ National Insurance Bureau มาผสานรวมกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI )และการพัฒนาเพื่อต่อยอดการใช้งานร่วมกับระบบ e-Payment หรือการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ จะช่วยผลักดันธุรกิจในระบบนิเวศประกันภัยไปสู่การเติบโต โดยช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถขยายฐานธุรกิจและการดำเนินงานรูปแบบใหม่เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยธุรกิจจะสามารถใช้ระบบใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ได้อย่างสมบูรณ์
“ในช่วงต้นของการให้บริการ Keep Di และแพลตฟอร์มบูโร จะรองรับธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศด้านประกันภัย เป็นกลุ่มแรก ก่อนที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจในกลุ่มอื่น อาทิ กลุ่มธุรกิจรถยนต์ กลุ่มค้าปลีก การแพทย์และสาธารณสุข ฯลฯ ภายในปีหน้า นอกจากนี้ เรายังมีแผนในการขยายการให้บริการแพลตฟอร์มบูโรของ Keep Di ไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นผู้ร่วมลงทุนใน Claim Di อย่าง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซียอีกด้วย”กิตตินันท์ กล่าวทิ้งท้าย