การพัฒนาโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาสักโครงการไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องใช้ประสบการณ์การทำงานมาต่อยอดการทำงาน เข้าใจตลาดของกลุ่มผู้บริโภค มีทีมงานที่เป็นมืออาชีพแล้ว ผู้บริหารควบคุมโครงการอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มีด้านไอที ด้านการตลาด ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจในขณะทำโครงการนั้นๆ เป็นอย่างดี และไม่ลืมที่จะศึกษาองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ เฉกเช่นเดียว คุณเนรมิต สร้างเอี่ยม อดีตผู้บริหารบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ซึ่งได้ใช้ประสบการณ์ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์เข้ามาช่วยในการทำงานด้านพัฒนาโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม การทำงานด้านไอที และการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
คุณเนรมิต สร้างเอี่ยม เล่าว่า การเรียนในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้รู้จักใช้ชีวิตแบบชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ไม่ยึดติดชีวิตฟุ้งเฟ้อเหมือนสมัยช่วงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตมีเหตุมีผล สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงทำงานใหม่ๆ ที่เชียงใหม่ งานค่อนข้างน้อย ประกอบกับทางบ้านคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่กรุงเทพฯ จึงได้กลับมาหาประสบการณ์ทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการทำงานที่บริษัทก่อสร้างเล็กๆ แห่งหนึ่ง แต่ด้วยการทำงานก่อสร้างที่ค่อนข้างจะมีปัญหาแย้งกับความรู้สึกส่วนตัว ความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคกับเจ้าของโครงการ จึงได้ลาออกมาทำงานแห่งใหม่ที่บริษัทชิโนทัย ในตำแหน่งวิศวกรสำนักงาน ในปี 2532 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นมหาชนเหมือนในปัจจุบันนี้
“โชคดีที่ที่ทำงานแห่งใหม่นี้ค่อนข้างจะให้อิสระ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพนักงานที่ร่วมทำงานที่สำคัญ เจ้าของก็มีนโยบายที่รับผิดชอบและดูแลทรัพย์สินชีวิตของผู้บริโภค และที่นี่เองผมได้ศึกษาด้านไอทีและนำมาใช้ในการทำงานด้านก่อสร้างเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พูดคุยการทำงานระหว่างกันให้การทำงานง่ายขึ้น”
ในปี 2538 คุณเนรมิตได้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะใหม่ในขณะนั้น เพื่อทำการเชื่อมโยงข้อมูลทำงานการก่อสร้างของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาโครงการ ฝ่ายออกแบบ โฟร์แมน และส่วนอื่นๆ โดยเชื่อมผ่านระบบไอที ซึ่งเรียกว่าอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ต ทำให้มีการโต้ตอบพูดคุยปัญหาระหว่างการทำงานก่อสร้างแต่ละโครงการได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งการทำงานมาระยะหนึ่งหนึ่ง คุณเนรมิตได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ที่จบวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยกัน ให้ไปร่วมทำงานกับบริษัท วิศวกรที่ปรึกษาต่อตระกูล ยมนาคและคณะ จำกัดของรศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ทำให้นำไอทีมาใช้เต็มรูปแบบมากขึ้นเพราะอาจารย์ต่อตระกูลเปิดโอกาสให้นำระบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำงาน
“ในช่วงการทำงานกับทางอาจารย์ต่อตระกูล ยมนาค ระหว่างปี 2533-2540 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 พอดีนั้น การทำงานค่อนข้างลำบาก และถูกลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง จึงได้นำการทำงานผ่านเครือข่ายไอทีมาช่วยทำงานเต็มรูปแบบ แม้ว่าการก่อสร้างและเศรษฐกิจอื่นๆ จะชะลอตัว แต่การทำงานผ่านระบบไอทียังสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ด้วยลดการใช้คนทำงาน ลดขั้นตอนการแก้แบบก่อสร้าง ลดการพูดคุยปัญหาระหว่างคนควบคุมงาน คนทำงาน ให้การทำงานที่ระบุการทำงานของแต่ละส่วนเฉพาะเจาะจง ทีมการทำงานดูรูปแบบการทำงานทั้งหมดร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างที่รับผิดชอบผ่านคอมพิวเตอร์ผ่านอินทราเน็ต เพื่อหาข้อผิดพลาดและแก้ไขส่วนที่ผิดพลาด ส่วนที่ยังทำงานไม่จบในแต่ละขั้นตอนก็ให้แต่ละฝ่ายรับทราบเพื่อลดค่าใช้จ่าย และลดการสูญเสียเวลาในการทำงาน”
คุณเนรมิต กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่ผู้ประกอบการไทยไม่เชื่อถือซอฟต์แวร์ที่ผู้ประกอบการไอทีคนไทยด้วยกันคิดขึ้นมาใช้สำหรับงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรืองานด้านอื่น ๆ แต่ตรงกันข้ามกลับไปเชื่อถือซอฟต์แวร์และระบบไอทีที่ต่างชาตินำมาจำหน่ายให้คนไทยใช้ คุณเนรมิตจึงมีแนวคิดเปิดบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ขึ้น ภายใต้ชื่อบริษัท สมองส่วนหน้าจำกัดและบริษัท ก้านสมอง จำกัดในปี 2550 โดยทำการบริหารบริษัทสองส่วนคือ บริษัทก้านสมองทำเป็นซอฟต์แวร์ ส่วนบริษัทสมองส่วนหน้า ทำเรื่องก้านสมอง ซึ่งจะนำข้อมูลจากซอฟต์แวร์ไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำไปเสนอเป็นแพ็คคู่เข้าไปนำเสนอแก่ลูกค้า เพื่อให้ครบวงจร ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
จากนั้นในปี 2550 คุณเนรมิตได้มาทำงานในตำแหน่งผู้บริหารบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด หรือ แกรนด์ ยู โดยในช่วงแรกๆ มีพนักงานเพียง 5-6 คนเท่านั้น แต่ก็สามารถทำยอดขายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ประมาณ 3,000-4 ,000ล้านบาท เรามีการทำงานที่เป็นทีม มีข้อมูลด้านการทำโครงการพัฒนาก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รวบรวมมาแล้วค่อยๆ หาทำเลและพื้นที่ก่อสร้างจริง เพื่อกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งผู้ประกอบการพัฒนาโครงการต่างเรียกกันว่าทำเลช้างเผือกนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้ไปยึดติดพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาก่อสร้างโครงการว่าจะต้องอยู่ติดรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ทำให้ให้บริษัทแกรนด์ ยูเป็นที่รู้จักและเชื่อถือของกลุ่มลูกค้าจนถึงปัจจุบัน
“การทำงานทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้ มีการปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ของปัญหา มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง เคยคิดแบบติดลบเยอะๆ พรุ่งนี้จะต้องจ่ายเงินหลายแสนบาท ยังไม่มีเงินเลยต้องหาเงินกู้นอกระบบร้อยละ 24 บ้าง ร้อยละ 36 บ้าง เพื่อนำมาจัดการบริหารให้บริษัทอยู่รอด เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ต้องไม่ลืมรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้บริโภคและเจ้าของโครงการ ไม่ไปปรับลดสัดส่วนของเสาเข็มที่นำมาก่อสร้าง ไม่ไปลดสัดส่วนการก่อสร้าง ทุกอย่างต้องมีคุณภาพอย่างดีที่สุด
“ผมก็บอกว่าทุกๆ การทำงานในหลักคิดมันไม่ต่างกันเลย หลักคิดคือทุกธุรกิจที่ทำต้องมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้และมีเงินเหลือ ซึ่งการที่จะมีรายจ่ายน้อยกว่าเงินเหลือนั่นก็หมายความว่า เราต้องใช้รายจ่ายอย่างมีคุณภาพที่สุดและต้องได้ของดีเข้าทำงาน ผมเชื่อว่าประสบการณ์ทำงานทั้งที่เรียนมาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาด้านไอที การตลาด และอื่น ๆ ตามช่วงเวลาของการทำงาน หรือแม้แต่การศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละธุรกิจเป็นเสมือนครูในการทำงานเพราะเมื่อเจอปัญหา เราก็เอากลับมานั่งวิเคราะห์โดยไม่ปล่อยผ่าน ช่วยให้ชีวิตได้เรียนรู้แง่มุมต่างๆ ที่ผ่านเข้ามามากยิ่งขึ้น และที่สำคัญช่วยให้การตัดสินใจก้าวเดินหรือการทำงานครั้งใหม่ตั้งมั่นในความไม่ประมาท”
แม้ว่าคุณเนรมิต จะประสบความสำเร็จในการบริหารงานที่แกรนด์ยู ประกอบกับทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันกำลังสดใส แต่ด้วยอิ่มตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้สั่งสมประสบการณ์มายาวนานระยะเวลา 8 ปี คุณเนรมิตจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัทแกรนด์ยู ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวด้านซอฟต์แวร์ธุรกิจด้านการเกษตร โดยยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคอนโดมิเนียมให้กลุ่มบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พร้อมๆ กับเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มบริษัท ออลไทยแท็กซี่ จำกัด
จริงๆ ผมก็เป็นคนเสี่ยงๆ มาโดยตลอด ตอนนี้ผมไปซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ผมเสี่ยงที่จะทำการเกษตรในช่วงอายุที่เหลือ มีเวลาอีกสิบปี เพราะผมมั่นใจว่าเมื่อผมล้มแล้ว ผมจะลุกได้ตลอดเวลา หากกล้าที่จะเสี่ยงอย่างมีข้อมูลเป็นฐานรองรับความเสี่ยงนั้นๆ ดังที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ติดยึดกับอะไร เก็บไว้ก็เป็นทุกข์ อย่าไปยึดติดกับมันเพื่ออะไร วันนี้ก็ไม่ได้ทำพวกนั้นแล้ว ไม่ได้มีเรื่องอะไรที่ติดตัว เราพร้อมที่จะไปโดยไม่มีอะไรผูกมัด”
สำหรับนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐในมุมมองของคุณเนรมิตถือเป็นเรื่องที่ดีในการตั้งธงนโยบายเพื่อให้การทำงานมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน ซึ่งก็คือการทำงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านไอทีที่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ แต่ภาพทั้งหมดนั้นก็มีทั้งคนที่มองออกว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานในธุรกิจของตนเอง ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่า Thailand 4.0 เป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะเข้าใจนโยบาย Thailand 4.0 นี้มากขึ้น หากภาครัฐเข้มข้นในการจัดการให้องค์ความรู้ทุกรูปแบบ
คุณเนรมิต มองว่า การเลือกเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์และสามารถสอบเข้าเรียนได้มีสัดส่วนประมาณ 1:300 ของผู้ที่สมัครสอบในแต่ละปี เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์ถือว่าอยู่ในชั้นหัวกะทิของการเรียนการสอนของประเทศไทย จึงมีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนจำนวนมาก เมื่อเรียนรู้แล้วได้องค์ความรู้ก็ควรนำมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และควรหมั่นศึกษาด้านธุรกิจ ด้านการตลาดและไอทีเพิ่มเติม เพื่อว่าสักวันคุณจะต้องทำงานในสายอาชีพอื่น
“ผมอยากบอกวิศวกรรุ่นใหม่ว่า อย่ามีอีโก้ อย่ามัวแต่มีอีโก้เลือกงาน อย่าดูถูกอาชีพคนอื่น คุณต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ เพราะคุณเป็นคนเก่งอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมีอีโก้ คุณปิด คุณก็จบชีวิตการทำงานของคุณลงตรงนั้น” คุณเนรมิต กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : Engineering Today No 162 November -December 2017