ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค ) สวทช.ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเวทีระดมสมอง พัฒนากำลังคนสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0 และหลักสูตร Industrial IoT และ AI ในอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับสถาบันอาชีวศึกษา มุ่งพัฒนาวิทยาลัยต้นแบบ 6 วิทยาลัยและเครือข่าย ในพื้นที่ภาคตะวันออก(EEC) เพื่อพัฒนาเด็กอาชีวศึกษาให้ “ทำได้ ทำเป็น” ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมอย่างตรงจุด
อุดม ลิ่วลมไพศาล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค ) กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนของเนคเทค สวทช. โดยศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ในโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial IoT แบบเข้มข้น สำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ เนคเทค สวทช., วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการฯ และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนที่มีการจัดอบรมในแต่ละหลักสูตร ทางโครงการฯ ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและหลักสูตรในโครงการฯ ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC และสถานประกอบการที่มีความสนใจนำเทคโนโลยีด้าน Internet of Things ไปใช้ โดยวิทยาลัยต่างๆ และสถานประกอบการมีบทบาทในการเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับหลักสูตร เช่น ทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็น หรือ การประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม ซึ่งทางโครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตร และพัฒนาชุดอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน เพื่อส่งให้ผู้เรียนได้ใช้ ซึ่งหลักสูตรจะมี 4 หลักสูตร ในแต่ละหลักสูตรจะคู่มือการสอน มีเอกสารและสื่อวิดิโอ พร้อมด้วยอุปกรณ์ประกอบการเรียน ได้แก่ 1) หลักสูตร IoT Fundamentals 2) หลักสูตร Advance IoT 3) หลักสูตร Basic Industrial IoT 4) หลักสูตร Industrial IoT
จากสถิติที่ผ่านมาโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2564-2566 มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 459 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนในหลักสูตร IoT Fundamentals เมื่อจบในแต่ละหลักสูตรจะมีการคัดเลือกทุกครั้ง หลังจากผ่านการอบรมในหลักสูตรสุดท้าย Industrial IoT จะมีการจัดงาน IoT Hackathon เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงาน ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้งานจริงในการแข่งขัน โดยในปี 2564 – 2566 มีจำนวนผู้ที่ผ่านการอบรมในทุกหลักสูตรทั้ง 3 ปี จำนวน 114 คน เข้าฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการทั้งหมด 73 แห่ง โดยส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะเข้าฝึกปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิต เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร และหม้อแปลง เมื่อนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานจบตามหลักสูตรของแต่ละวิทยาลัย ทางโครงการฯ จะทำแบบประเมินเพื่อสอบถามไปยังสถานประกอบการถึงโอกาสการรับนักศึกษาเข้าทำงานต่อเมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีจำนวนการรับถึง 86 คน จากทั้งหมด 166 คน โดยมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 20% – 30% ในทุกๆปี
จากผลสำรวจการมีงานทำของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2564 – 2565 นั้น ผลสำเร็จผู้ที่เข้าร่วมจนจบโครงการฯ 67 คน ผู้ที่มีงานทำแล้ว 58 คน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร่วมกันแล้วอยู่ที่ 81.04% ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
อุดม กล่าวถึงโครงการฯ ในปี 2567 ว่า ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการฯ ปี 2564 – 2566 เพื่อที่จะมุ่งพัฒนาวิทยาลัยต้นแบบที่มีความพร้อมทางด้านกำลังคน (ครู) เทคโนโลยี (อุปกรณ์) องค์ความรู้ (เครื่องมือ สื่อการสอน) ความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี Internet of Things, Industrial IoT และ AI โดยนำผลผลิตที่ได้มาในปี 2564 – 2566 นั้นคือ หลักสูตรที่สามารถสร้างบุคลากรด้าน Industrial IoT ได้แก่ หลักสูตร Internet of Things และ Industrial IoT มาประยุกต์เป็นหลักสูตรในปัจจุบันที่มีสอนในวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเป็น 6 สาขาวิชา ได้แก่ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เมคคาทรอนิกส์ เทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรดังกล่าว อีกทั้งยังได้เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาหลักสูตรด้วยองค์ความรู้ทางด้าน AI ซึ่งได้ถูกผนวกการใช้งานร่วมกับ IoT จึงเกิดเป็นเทคโนโลยี AIoT (Artificial Intelligence : Internet of Things) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนา Factory 4.0
ในปี 2567 นี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 189 คน โดยทางโครงการฯ ได้ปรับเปลี่ยน และเพิ่มความเข้มข้นให้กับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างวิทยาลัยต้นแบบจากเครือข่ายทั้งหมด โดยมีวิทยาลัยต้นแบบ จำนวน 6 วิทยาลัย ได้แก่
- วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จ.ชลบุรี
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จ.ชลบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จ.ระยอง
- วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
- วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี จ.ระยอง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 – 11 และ 16 – 17 ธันวาคม 2566 ทางโครงการฯ ได้ทำการเตรียมความพร้อมให้แก่ครูของทั้ง 6 วิทยาลัยข้างต้น มีการอบรมหลักสูตร Internet of Things และ Industrial IoT ร่วมทั้งได้มีการร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2567 โดยการอบรมหลักสูตร Fundamentals IoT และ Advanced IoT สำหรับนักศึกษาในโครงการฯ จะเริ่มในช่วงเดือนมกราคม 2567