กรุงเทพฯ – 9 กุมภาพันธ์ 2565 : บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจรพร้อมด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท อีโนวา อินทิเกรชั่น จำกัด ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและมอบหม้อแปลงซับเมิร์ส เจริญชัย (IoT) เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ไฟฟ้าใต้ดินของโครงการจุฬาลงกรณ์
ประสิทธิ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและมอบหม้อแปลงซับเมิร์ส เจริญชัย (IoT) ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้เพื่อความปลอดภัย สร้างทัศนียภาพที่สวยงานให้กับการนำไปใช้ติดตั้งในโครงการต่างๆของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากหม้อแปลงซับเมิร์ส เจริญชัย (IoT) มีคุณสมบัติเป็นหม้อแปลงในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ใช้ในการปรับลดแรงดันไฟฟ้าที่ส่งผ่านตามสายระบบจำหน่าย เป็นฉนวนในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรในตัวหม้อแปลง เปลี่ยนระบบสายอากาศให้เป็น Under Ground Cable และที่สำคัญจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์ได้เข้ามาศึกษาผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าของทางบริษัทฯ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญก่อนออกไปประกอบอาชีพในอนาคต
ประจักษ์ กิติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าวว่า เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า บริษัทฯจึงได้คิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯตอบโจทย์ต่อวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่องและเพื่อจัดการความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโครงการต่างๆของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและมอบหม้อแปลงซับเมิร์ส เจริญชัย (IoT) ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำไปใช้เสริมสร้างความสมบูรณ์ไฟฟ้าใต้ดินให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ที่สำคัญจะช่วยรองรับมิติใหม่ของการนำสายไฟลงดินทั้งระบบ
ด้านนพชัย ถิรทิตสกุล ประธานการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีโนวา อินทิเกรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯพร้อมให้การสนับสนุนการนำอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ต่างๆของบริษัทฯ มาร่วมในการปรับปรุงและก่อสร้างระบบไฟฟ้าใต้ดินพร้อมส่งทีมติดตั้งเทคโนโลยีหม้อแปลงชนิดจมน้ำลงบ่อ เพื่อปรับปรุงในโครงการต่างๆของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีระบบไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคงรองรับการใช้งานรองรับการเป็นสังคม Smart City ตามนโยบายภาครัฐต่อไป
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะได้เรียนรู้นวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้า การติดตั้ง การบำรุงซ่อมแซมและอื่นๆ จากทั้ง 2 บริษัทฯที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ นอกจากนี้การได้รับมอบหม้อแปลงซับเมิร์ส เจริญชัย (IoT) จะช่วยให้โครงการต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานตามแผนที่วางไว้