กรุงเทพฯ : ความตั้งใจของโรลส์-รอยซ์ในการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่บินได้รวดเร็วที่สุดในโลกได้รุดหน้าไปอีกขั้น ด้วยแผนการเตรียมเปิดตัวเครื่องบินลำนี้ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ปีพ.ศ.2563 ณ สนามบินกลอสเตอร์เชอร์ ในประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการผสานรวมระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าล้ำสมัยเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ในขณะที่ยังคงสามารถทำความเร็วได้สูงสุดเพื่อบันทึกสถิติการบินด้วยความเร็วมากกว่า 300 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 480 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การพัฒนาเครื่องบินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า ACCEL (Accelerating the Electrification of Flight) ที่ริเริ่มโดยโรลส์-รอยซ์ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่โรลส์-รอยซ์ใช้เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในด้านการพัฒนาผลงานประดิษฐ์ด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยโครงการนี้โรลส์-รอยซ์เป็นเจ้าภาพร่วมกับคู่ค้า YASA ผู้ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและตัวควบคุม กับสตาร์ทอัพด้านการบิน Electroflight ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนครึ่งหนึ่งจากสถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (ATI) ร่วมกับกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และ นโยบายอุตสาหกรรม (BEIS) และ Innovate UK หน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นาดีห์ม ซาฮาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธุรกิจพลังงานและนโยบายอุตสาหกรรม กล่าวว่า สหราชอาณาจักรเป็นที่รู้จักทั่วโลกในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการบิน ศักยภาพในการบินด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าจะปฏิวัติการเดินทางและเปลี่ยนแปลงการบินไปอีกนานนับหลายสิบปี สร้างความมั่นใจว่าเราสามารถเดินทางไปทั่วโลกได้ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในระดับต่ำ ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาล โรลส์-รอยซ์กำลังขยายขีดการพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวล้ำไปยิ่งขึ้นและนวัตกรรมนี้จะกลายเป็นเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่บินได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็เป็นได้
ด้าน ร็อบ วัตสัน ผู้อำนวยการด้านพลังงานไฟฟ้าของโรลส์-รอยซ์ กล่าวว่า การสร้างเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่บินได้รวดเร็วที่สุดในโลกไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของการปฏิวัติการบิน หรือเป็นก้าวสำคัญในการพยายามบันทึกสถิติโลกเท่านั้น แต่จะยังช่วยพัฒนาขีดความสามารถของโรลส์-รอยซ์ และสร้างการรับรู้ว่าเราคือผู้นำแถวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจการบินไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลกโดยการปล่อยคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงแอร์เฟรมเพื่อการทดสอบของ ionBird ซึ่งตั้งชื่อตามเทคโนโลยีไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนของเครื่องบิน ทั้งนี้จะมีการนำ ionBird มาทดสอบระบบขับเคลื่อนก่อนที่มันจะถูกผสานรวมเข้ากับเครื่องบินอย่างสมบูรณ์ การทดสอบตามแผนอีก2-3 เดือนข้างหน้านั้นจะรวมถึงการใช้ระบบขับเคลื่อนแบบเต็มกำลังเช่นเดียวกับการตรวจเช็คมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ ของเครื่องบินก่อนขึ้นบิน
แกรี่ เอลเลียต ซีอีโอ สถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (ATI) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับโรลส์-รอยซ์ในโครงการ ACCEL เพราะเราเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น ความสำคัญอย่างแรกที่สถาบันเล็งเห็น คือ จะสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบินได้อย่างไร และโครงการ ACCEL จะเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเข้าใจว่าการขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าจะมีความสอดคล้องกับความต้องการที่ขยายตัวขึ้นสำหรับภาคการบินของสหราชอาณาจักร และเรารู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับวิธีการสร้างซัพพลายเชน และนวัตกรรมที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ สตาร์ทอัพด้านพลังงาน และเหล่าผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของสหราชอาณาจักรเข้าไว้ด้วยกัน
โครงการ ACCEL จะใช้ชุดแบตเตอรี่ที่มีกำลังสูงมากที่สุดเท่าที่เคยใช้ในการประกอบเครื่องบิน ซึ่งจะให้พลังงานมากพอเท่ากับการให้เชื้อเพลิงกับบ้านถึง 250 หลัง หรือสามารถบินได้ไกลเป็นระยะทาง 200 ไมล์ เทียบเท่าจากกรุงลอนดอนถึงกรุงปารีส ด้วยการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว โดยเซลล์แบตเตอรี่จำนวน 6,000 เซลล์จะได้รับการจัดเก็บเป็นอย่างดีเพื่อให้มีน้ำหนักเบาที่สุด และสามารถป้องกันความร้อนได้ในระดับสูงสุด ด้วยระบบระบายความร้อนขั้นสูงจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการให้ความเย็นกับเซลล์แบตเตอรี่โดยตรงระหว่างการบินเพื่อบันทึกสถิติ
ส่วนระบบใบพัดเครื่องบินจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าทรงพลังถึง 3 ตัว และเมื่อเทียบกับเครื่องบินทั่วไปใบพัดเครื่องบินจะมีความเร็วรอบต่อนาทีที่ต่ำกว่ามาก เพื่อให้การบังคับเครื่องมีเสถียรภาพและเงียบกว่าเดิม เมื่อรวมเข้าด้วยกันจะใช้กำลังมากกว่า 500 แรงม้าอย่างต่อเนื่องสำหรับการบันทึกสถิติ การทำงานของระบบส่งกำลังไฟฟ้าจะให้พลังงานที่ทรงประสิทธิภาพถึง 90% และจะไม่มีการปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับรถแข่งฟอร์มูล่าวันที่มีประสิทธิภาพของการใช้พลังงานเกือบ 50%
คริส ฮาริส ซีอีโอ YASA กล่าวว่า เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าของ YASA นั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเพิ่มกำลังการบินด้วยระบบไฟฟ้า โดยนำข้อดีที่เราเห็นบนท้องถนนนั้นมาปรับให้เหมาะกับการบินในอากาศ ซึ่งการลดขนาดและน้ำหนักเพื่อให้ส่งกำลังและแรงหมุนรอบได้ตามที่กำหนดนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
“ทั้ง YASA และโรลส์-รอยซ์ เราทั้งคู่ต่างก็มีความหลงใหลในงานวิศวกรรมเหมือนกัน และเรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับพวกเขาในโครงการแอคเซลที่นำพามนุษยชาติไปสู่ยุคใหม่ของการบินด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน” คริส ฮาริส กล่าว
นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับ Widerøe สายการบินระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวียในโครงการวิจัยร่วมเกี่ยวกับการบินไร้มลพิษ มีความซึ่งมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนฝูงบินกว่า 30 ลำของบริษัทฯ ให้หันมาใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าให้สำเร็จภายในปีพ.ศ.2573