ศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างอาคารใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์หักตกใส่หลังคาอาคารโรงเรียน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นักเรียนบาดเจ็บจำนวน 5 รายนั้น จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์เครนหักระหว่างก่อสร้างเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต จากการราบรวมข้อมูลในอดีตพบว่า ในปี พ.ศ. 2559 เกิดเหตุ 2 ครั้ง ในปี 2560 เกิด 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2561 เกิด 5 ครั้ง และในปี พ.ศ.2562 ได้เกิดเหตุการณ์มาแล้ว 2 ครั้ง
สำหรับสาเหตุเครนถล่มระหว่างก่อสร้างอาจเกิดขึ้นจาก 6 ปัจจัยหลักได้แก่ 1.การประกอบติดตั้งไม่ถูกวิธีหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต 2. การยกน้ำหนักเกินพิกัด 3. ขาดการตรวจสอบก่อนใช้งาน 4. วัสดุเสื่อมสภาพ 5. ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้และประสบการณ์ และ 6. เกิดภัยธรรมชาติ
โดยสาเหตุหลักคือการประกอบติดตั้งไม่ถูกวิธีคิดเป็น 42% ของการเกิดเหตุในอดีต ส่วนสาเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติมีเพียง 10% แสดงว่าสาเหตุที่เครนถล่มส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน
ทั้งนี้ในการควบคุมการก่อสร้างต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิศวกร 2542 เพราะอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไปเข้าข่ายเป็นวิศวกรรมควบคุม ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งวิศวกรควบคุมงานที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติงานที่ได้รับทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและหลักวิชาการ มิฉะนั้น ก็อาจมีโทษทางจรรยาบรรณ มีผลต่อการเพิกถอนใบอนุญาตได้
ศาสตราจารย์ดร. อมร กล่าวถึงมาตรการป้องกันปัญหาเครนถล่มว่า สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- กำหนดให้เครนหรือปั้นจั่นเข้าข่ายเป็นโครงสร้างตามความหมายของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522 เพื่อให้ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
- นายตรวจตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522 ต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าสุ่มตรวจอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
- ท้องถิ่นอาจขอความร่วมมือจากสมาคมวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ในการเข้าร่วมการตรวจสอบอาคารระหว่างการก่อสร้าง
“สำหรับประชาชน ต้องหลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเข้าใกล้พื้นที่ก่อสร้าง ถ้าพบเห็นการก่อสร้างที่ดูแล้ว ไม่ปลอดภัย เช่น มีสิ่งของร่วงลงมาเป็นประจำ ไม่มีแผงกั้นของตก ไม่มีป้ายกำกับโครงการ ไม่พบเห็นวิศวกรควบคุมงาน ควรแจ้งหน่วยงานให้ตรวจสอบต่อไป” ศาสตราจารย์ดร.อมร กล่าวสรุป