อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผนึกกำลังคณะวิศวฯ จุฬาฯและภาคีเครือข่าย จัดงาน Thai Water Expo และ Water Forum 2023


บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายชั้นนำด้านทรัพยากรน้ำ ร่วมกันจัดงาน “Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2023” งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุดงานเดียวในประเทศไทย โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7  ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความพร้อมของอาเซียน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”  ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม  – 1 กันยายน พ.ศ.2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เผชิญกับปัญหาน้ำมาหลายศตวรรษ ซึ่งหากไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี ครึ่งหนึ่งของประเทศจะกลายเป็นทะเล  ทั้งนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมานานกว่า 4 ทศวรรษ  โดยในปี พ.ศ. 2563 ได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและการระบายน้ำในเขตเมืองที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ   ทางสถานทูตฯ  จึงพร้อมเป็นส่วนสำคัญด้านการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อเผชิญความท้าทายกับปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม โดยจัดทำเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งแบบที่กั้นถาวร และแบบที่เปิด-ปิดได้ กั้นตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำจนเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“ด้วยประสบการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเราพร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งงาน Thai Water Expo 2023  ถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อมโยงที่ดีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ โดยได้นำกว่า 12 บริษัทชั้นนำจากเนเธอร์แลนด์ด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสียที่ทันสมัย มาร่วมจัดแสดงภายในงาน นอกจากนี้ยังได้ร่วมจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “Thailand- Netherlands Water Innovation Forum” ร่วมกับสถาบันน้ำ เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต” เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าว

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้แทนคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะภาคของการศึกษา จึงสร้างการตระหนักรู้ด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตั้งเป้าพร้อมรับมือต่อผลกระทบด้านวัฏจักรน้ำ ความสมดุลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความยั่งยืนของน้ำมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการบูรณาการทั้ง น้ำ อากาศ สิ่งที่มีอิทธิพล รวมทั้งความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะดิจิทัล เพราะข้อมูลจะช่วยในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งในอนาคต  ซึ่งเป็นแนวทางที่วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนาและวิจัย ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ด้านวิศวกรรมเท่านั้น การวิจัยยังมองหลายๆด้านเพื่อร่วมกันจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับงานสัมมนาวิชาการ Water Forum ในครั้งนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแกนหลักรวมหน่วยงานสมาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สมาคมนักอุทกวิทยาไทย สมาคมการประปาแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) มาร่วมสร้างเนื้อหาที่ครอบคลุมในทุกมิติด้านการจัดการน้ำ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการจัดการน้ำอัจฉริยะ ความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แนวความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกรณีศึกษาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยได้เชิญผู้ชำนาญทั้งในไทยและต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านเวทีเสวนาภายในงาน นอกจากนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมสมาคมต่างๆ ร่วมจัดแสดงเทคโนโลยี ผ่านโครงการด้านน้ำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจเข้าชมงาน

“เชื่อมั่นว่าการจัดงาน Thai Water Expo และ Water Forum 2023 จะเป็นเวทีสำคัญระดับภูมิภาค เพื่อพบปะ พูดคุย นำเสนอเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำครบวงจรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่สนใจภายในงาน”  รศ.ดร.สุจริต กล่าว

มนัส กำเนิดมณี อุปนายกสมาคมอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า ภาวะสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปี พ.ศ.2566 นี้จะมีปริมาณน้อยลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจึงถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2567 โดยความรุนแรงจะอยู่ในระดับ Strong และ Very Strong จะรุนแรงและรุนแรงมากในเดือนกันยายน พ.ศ.2566 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 และคาดว่าจะค่อยๆลดลงในเดือน มกราคม พ.ศ.2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ก่อนเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมีนาคม พ.ศ.2567 เพื่อให้ประชาชนและผู้เข้าร่วมงานตระหนักและรับทราบสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ทางสมาคมอุทกวิทยาไทยจึงได้นำนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาเรื่องแนวโน้มเอลนีโญภายในงานด้วย นอกจากนี้ยังมีหัวข้อเพิ่มเติมที่น่าสนใจ เช่น การเตรียมตัวในการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆที่มาใช้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอนาคต โดยจะมีการจัดนิทรรศการเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆด้วย

มานิต ปานเอม  ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กปน. มีหน้าที่ผลิตและให้บริการเกี่ยวกับน้ำประปาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการค้า การท่องเที่ยว การศึกษา อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจสำคัญของประเทศที่ต่างล้วนต้องการบริการน้ำประปาที่สะอาด ไหลแรงให้ประชาชนใช้น้ำประปา แต่ในหลายๆช่วงที่เกิดภาวะน้ำที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำเกิดขาดแคลนขึ้น กปน.จำเป็นต้องมีงานวิจัย เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการน้ำประปาให้เพียงพอในการใช้ของประชาชน และยิ่งในปีนี้ หลายๆภาคส่วนต่างออกมาคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะค่อนข้างขาดแคลน ปริมาณน้ำฝนที่จะตกตามฤดูกาลมีน้อยและอาจจะตกไม่ตามฤดูกาลตามสถานการณ์เอลนีโญ ดังนั้น กปน.จึงได้มีการสำรองน้ำเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำประปาไว้ล่วงหน้ารวมทั้งบริหารจัดการน้ำประปาเพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

ส่วนการเข้าร่วมงาน ThaiWater ที่จัดขึ้น ทาง กปน.จะนำการบริหารจัดการน้ำประปาจากอดีตถึงปัจจุบันไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงาน รวมทั้งส่งนักวิชาการ บุคลากรของ กปน.เข้าร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องน้ำประปาภายในงานด้วย  จึงอยากเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้ามาร่วมงานเพื่อที่จะได้ตระหนักรู้ในการเปิดใช้น้ำประปาในแต่ละครั้งว่าไม่ควรเปิดทิ้งโดยไม่ใช้ประโยชน์ใดๆ เพราะน้ำที่จะนำมาผลิตประปามีค่าและหายากมากขึ้นในปัจจุบัน

กชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านการจัดกิจกรรมและนิทรรศการระดับภูมิภาค จัดงาน “Thai Water Expo 2023” งานมหกรรมเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุดงานเดียวในประเทศไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7  ปีนี้ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความพร้อมของอาเซียน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”  ภายในงานได้ขนทัพเทคโนโลยีและนวัตกรรม โซลูชันด้านน้ำครบวงจร จากบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 200 บริษัท และพาวิลเลียนจากกว่า 8 ประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน มาร่วมจัดแสดงเทคโนโลยี  การนำปัญญาประดิษฐ์มาผนวกใช้ในการบำบัดน้ำเสีย การคาดการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศ รวมถึงโซนจัดแสดงพิเศษ Insight Water รวบรวม 30 องค์กรหลักด้านน้ำให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังจัดร่วมกับการประชุมนานาชาติ Water Forum ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการน้ำจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ร่วมแบ่งปันความรู้ เทรนด์เทคโนโลยี รวมถึงโซลูชันด้านน้ำ

การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญระดับภูมิภาค สำหรับการเจรจาธุรกิจและแบ่งปันความรู้ เราหวังว่างานนี้จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมน้ำสู่สากล

สำหรับงาน Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2023 หนึ่งเวทีที่สำคัญระดับภูมิภาคและเป็นโอกาสทองของไทยในอุตสาหกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสีย โดยปีนี้จัดขึ้นร่วมกับงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023 งานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ครบครันที่สุดในภูมิภาค ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน พ.ศ.2566 ณ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save