องค์กรภาคี 12 หน่วยงาน ร่วมจัดตั้ง“โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเพื่อสาธารณสุขไทย


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเชื่อมสัญญาณไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยมี  องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 12 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู)  กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อเป็นคลังข้อมูลประโยชน์ต่อสาธารณสุขไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องนำคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาช่วยในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และการวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริการ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” เพื่อบูรณาการข้อมูลของทั้ง 12 หน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามให้การทำงานตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของประชาชนคนไทยอย่างรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นผ่านเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า แต่การนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยบริหารจัดการและวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริหารนั้นจะต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ใดแพทย์จะสามารถตรวจสอบประวัติการรักษาและการรักษาจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

“ขอขอบคุณคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปจัดการฐานข้อมูลและการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน หวังว่าระยะต่อไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศเพื่อสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น”  ประยุทธ์ กล่าว

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้ง 12 หน่วยงาน ที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยบริการต่างๆ จึงมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากระเบียนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health Record :PHR) ของแต่ละฝ่ายระหว่างกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพนี้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ประชาชนที่มีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ การบริการแพทย์ทางไกลมีประสิทธิภาพช่วยให้คณะแพทย์สามารถตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรง โรคอุบัติใหม่ โรคต่างๆได้รวดเร็ว สะดวกมากยิ่งขึ้น และการบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ และการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ทัดเทียมนานาประเทศ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งของการปฎิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศ เพื่อยกระดับการบริการและการรักษาประชาชน รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ บรูณาการฐานข้อมูลสุขภาพของหน่วยงานทั้ง 12 หน่วยที่มาร่วมลงนามในวันนี้ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิ ซึ่งทำหน้าที่การส่งต่อผู้ป่วย กรณีที่มีความซับซ้อนและต้องการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลและให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานงานหลัก เพื่อให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายทั้งภายนอกและภายในกระทรวง อว. ขับเคลื่อนให้เกิดในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ ที่จะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มกลางสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ (National Health Information Platform) ซึ่งจะมีคลังข้อมูล หรือ Big Data ด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ โดยกระทรวง อว. ได้บรรจุแผนการขับเคลื่อนและการดำเนินงานผ่านโครงการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI: Ending Pandemics through Innovation) ขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรค COVID-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยุติผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันและในอนาคตด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อน คือ พัฒนาระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต แม้จะเกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยและนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ยึดหลักการให้บริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหน แพทย์สามารถตรวจสอบประวัติการรักษา และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า โครงการนี้ได้นำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านสุขภาพผ่านระบบ Health Link ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่ต้องอาศัยข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปใช้ในการรักษาส่งต่อจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่ง นำข้อมูลไปใช้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุขและวางแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพตรวจย้อนกลับข้อมูลได้ 

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตโครงการนี้จะเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้ทุกๆโรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลการทางการแพทย์และสาธารณสุขจากโครงการนี้ด้วย” ชัยวุฒิ กล่าว

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การมีผู้คนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องมีการวางแผนรองรับการรักษาและการบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งทางกทม.ได้มีการแบ่งการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกเป็น 19 ศูนย์ด้วยกัน และโชคดีที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีหน่วยงานอื่นๆที่เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพและอนามัยให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น หน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานจากทหาร และหน่วยงานภาคเอกชน โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ COVID-19 ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานครขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์และขาดโรงพยาบาลในการรองรับจำนวนผู้ป่วย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆด้วยดีตลอดมา 

สำหรับการเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มข้อมูลทางดิจิทัลที่ก่อให้เกิดความสะดวกในการค้นหา สืบประวัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วิเคราะห์ปัญหาโรคที่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สำคัญจะช่วยค้นหาเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้หากเกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้นอีกในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการฯดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 ก่อนแล้วจะค่อยๆขยายให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save