มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 26 เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมอยากได้” พบว่า จากการที่ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ภาคอุตสาหกรรมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เราจะได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ คาดหวังให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายใน 5 เรื่อง ดังนี้
1) การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานและการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศ 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 3) การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น 4) การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME 5) การแก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้า และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละเรื่อง ส.อ.ท. ได้มีการสำรวจความเห็นเจาะลึกในแต่ละประเด็นนโยบายย่อย เพื่อเป็นโจทย์ให้กับพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงอยู่ในขณะนี้ นำไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตต่อไป
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 255 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก
45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 26 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
- รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเรื่องใด (Multiple Choices)
อันดับที่ 1 : การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน และการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศ 81.6%
อันดับที่ 2 : การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 77.3%
อันดับที่ 3 : การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น 70.6%
อันดับที่ 4 : การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME 52.5%
อันดับที่ 5 : การแก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้า และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม 47.8%
- นโยบายใดช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน และการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศ (Multiple Choices)
อันดับที่ 1 : เร่งเปิดเสรีพลังงานทางเลือก ส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน 72.9%
อันดับที่ 2 : ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 71.8%
อันดับที่ 3 : แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจากนโยบายด้านพลังงานให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน 66.7%
อันดับที่ 4 : เร่งเปิดให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้า (Third Party Access) เพื่อนำไปสู่ Net Metering 54.5%
- นโยบายใดช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต 71.4%
อันดับที่ 2 : การส่งเสริมการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในประเทศ เช่น การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี, การอำนวยความสะดวก, การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นต้น 60.0%
อันดับที่ 3 : ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน Upskill & Reskill และพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนภาคธุรกิจ 56.9%
อันดับที่ 4 : ส่งเสริมแนวคิด BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าให้กับภาคการเกษตรควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม 55.3%
- นโยบายใดช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น (Multiple Choices)
อันดับที่ 1 : เพิ่มบทลงโทษคนกระทำผิด และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมโดยให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ 72.5%
อันดับที่ 2 : ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมาย (Self- Declaration) และตรวจติดตามผล 62.4%
อันดับที่ 3 : ขยายผลการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ เพื่อเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์และตรวจสอบ 53.3%
อันดับที่ 4 : มีรางวัลนำจับให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสการทุจริตคอรัปชั่นเพื่อสร้างแนวร่วมในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น 50.2%
- นโยบายใดช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME (Multiple Choices)
อันดับที่ 1 : สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ 66.7%
อันดับที่ 2 : ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ 65.9%
อันดับที่ 3 : เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้แก่ SME ทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้ง การบริการครบวงจร 62.4%
อันดับที่ 4 : สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านธุรกิจ Startup และสนับสนุนให้เกิด Technology transfer แก่ผู้ประกอบการ SME 52.5%
- นโยบายใดช่วยรับมือกับปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้าและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม (Multiple Choices)
อันดับที่ 1 : ส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำของเสียกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ 73.3%
อันดับที่ 2 : สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป 66.3%
อันดับที่ 3 : เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมโรงงานให้มีการปรับปรุงการผลิต และเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 65.1%
อันดับที่ 4 : ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต (Eco Product, Green Label) 59.2%