ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ระหว่าง กรมการขนส่งทางราง สอวช. สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมอาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม โดยได้รับเกียรติจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการขนส่งทางราง พร้อมทั้งได้พัฒนาโครงการขนส่งทางรางต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในเมือง และได้มีการลงทุนก่อสร้างโครงการระบบรางต่างๆ ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ จะมีความจำเป็นต้องผลิตขบวนรถ วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรด้านระบบรางเป็นจำนวนมาก ทั้งวิศวกรและช่างเทคนิค ในระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนและระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาด้านระบบราง หน่วยงานผู้เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ทั้ง 7 ฝ่าย จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง รวมถึงการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบราง
โดยวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้คือ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางราง สอวช. สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และผู้ร่วมลงนาม ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง สถาบันการศึกษาซึ่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านระบบราง และผู้ประกอบกิจการด้านระบบราง ในการสนับสนุนส่งเสริม และใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านระบบราง ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมด้านระบบรางร่วมกันและร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการวิจัยและพัฒนา การคิดค้นนวัตกรรมด้านระบบราง มีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศด้านระบบราง การสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการทดลอง ทดสอบ และการรับรองผลการทดสอบตามมาตรฐาน การจัดทำมาตรฐานด้านระบบราง และมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตขบวนรถ ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์ระบบรางภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้า
“ปัจจุบันระบบรางของไทยกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการบุคลากรในด้านต่างๆ ของระบบรางเป็นจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งหลายสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ทั้งของภาครัฐและเอกชน ต่างก็มีความตื่นตัวและเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านระบบรางเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือมีการริเริ่มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางขึ้นโดยคนไทยเองแล้ว นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความยั่งยืน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในวันนี้นับเป็นโอกาสดี ที่ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางของไทย จะได้มาผนึกกำลังกันในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของแต่ละองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าหากแต่ละหน่วยต่างคนต่างทำก็อาจจะมีข้อจำกัด เราจึงต้องร่วมมือกัน แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทรัพยากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่แต่ละหน่วยมี เพื่อให้มีการต่อยอดการพัฒนา สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป และเชื่อมั่นว่า 7 ภาคีเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้ พร้อมที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยพัฒนาและแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบราง การพัฒนามาตรฐานด้านการขนส่งทางราง ที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้โดยสารและสาธารณะ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ รวมถึงเพื่อยกระดับขีดความสามารถของระบบรางไทยโดยฝีมือคนไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางของภูมิภาคอย่างเต็มภาคภูมิ” ดร.กาญจนา กล่าว
สำหรับขอบเขตความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะมีความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยจะร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมของแต่ละวิชา มีการประสานความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความขาดแคลน และกำหนดจำนวนนักศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมด้านระบบราง
ด้านวิชาการยังมีความร่วมมือในการสนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา การส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว และพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนอบรมแก่บุคลากรของผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ด้านการวิจัยและพัฒนามีความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบรางของสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางพร้อมทั้งนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้มีการนำรถไฟต้นแบบ ชิ้นส่วนต้นแบบ อุปกรณ์ต้นแบบ ซึ่งได้จากการวิจัย ไปใช้นำร่องทดสอบและทดลองใช้งานจริง
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศทุกระบบ อาทิ รถไฟฟ้าในเมือง รถไฟทางคู่ รถแทรม รถไฟฟ้ารางเดี่ยว และรถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและการยอมรับในระดับสากล ความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ รวมถึงความปลอดภัย และสนับสนุนการใช้มาตรฐานที่จัดทำขึ้น และการรับรองผลการทดสอบตามมาตรฐาน รวมถึงร่วมมือในการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ทดแทนการนำเข้า การใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการทดสอบและทดลองให้เกิดขึ้นภายในประเทศผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ตลอดจนร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการขนส่งทางรางของประเทศ และร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบรางและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง จากการพัฒนาผลิตชิ้นส่วนและตัวรถภายในประเทศด้วย