สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยความคืบหน้าผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ อาทิ A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล หรือ ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) พัฒนาโดยนักวิจัยไทย ช่วยลดภาระงานแพทย์-พยาบาล ดูแลผู้ป่วย COVID-19 กลุ่ม HI และ CI แบบเบ็ดเสร็จ กว่าล้านราย ขณะที่ ‘หมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ’ เป็นอีกอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันผู้ป่วยติดเชื้อ COVID -19 ในวงจำกัด พร้อมกันนี้ยังได้ผลักดันนวัตกรรม สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินพร้อมระบบพยุงน้ำหนักฯ เข้าสู่ตลาดภาครัฐ ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ เพื่อให้คนไทยใช้นวัตกรรมไทย ลดการพึ่งพาต่างประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
กรุงเทพฯ – 13 มิถุนายน 2565 : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่ตอบโจทย์ BCG มิติการพึ่งพาตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวและร่วมแสดงความยินดี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่นำนวัตกรรมไปใช้และให้บริการ อาทิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) บริษัทเวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด และบริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 การระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลก ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ทั้งในแง่ของวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ ตลอดจนระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID -19 ได้อย่างเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรภายในประเทศ เพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์และระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ลดการนำเข้าสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับการให้บริการทางสาธารณสุขของประเทศในการดูแลรักษาคนไทยได้อย่างทันท่วงที ทั่วถึง และเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ภายใต้การขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ โดย สวทช. ได้พัฒนาผลงาน “A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล : ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation)” และ “หมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ (nSPHERE Pressurized Helmet)” ประกอบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมสนับสนุนและขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงาน “สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker)” นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย ที่ตอบโจทย์ความต้องการรองรับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศ ถือเป็นความสำเร็จของการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้ว จากใช้นวัตกรรมต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นเราต้องสร้างเอง บริโภคเอง ซึ่งนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เห็นในวันนี้ ทาง สปสช. มีมาตรการที่จะสนับสนุนนวัตกรรมของไทยเยอะ ทำให้เรากำลังสร้างและเปลี่ยนวิธีคิดของประเทศ ซึ่งนอกจากมีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแล้ว เรายังเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์บริการเพื่อใช้งานและพึ่งพานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยด้วย โดยในวันนี้ได้เห็นตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว ดังนั้นเป้าหมายเราที่อยากจะเป็นชาติวิทยาศาสตร์เราเป็นได้ หากมีผลิตภัณฑ์และบริการที่อิงอยู่บนวิทยาศาสตร์ฯ ไปต่อได้และไปได้เร็ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. กล่าว
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ภายในประเทศที่จะสนับสนุนระบบบริการที่เข้มแข็งร่วมกันมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรอย่างแท้จริง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นมา ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ จากการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงกระทรวง อว. สวทช. โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ผู้พัฒนาผลงาน A-MED Telehealthแพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล : ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home isolation) และที่ชุมชน (Community isolation) อย่างเป็นระบบ ซึ่งสนับสนุนการทำงานทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทยในระยะแรก ที่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID -19 ได้เพียงพอ จนถึงการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
สำหรับหน่วยบริการที่นำระบบไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย COVID -19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงร้านยาในเครือข่าย โดยรวมแล้วมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ป่วย COVID-19 สะสม ที่ได้รับการดูแลผ่านระบบ A-MED Telehealth แล้วมากกว่า 1,000,000 คน โดยทำงานร่วมกับ สปสช. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กรมการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ สภาเภสัชกรรม อย่างใกล้ชิด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาระบบการดูแลสุขภาพทางไกล (A-MED Telehealth) มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการดูแลที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อันจะนำมาประยุกต์และเสริมสร้างศักยภาพของการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป เช่น โรคเกี่ยวกับ NCD และอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต
“ในระยะแรก A-MED Telehealth ช่วยให้แพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยได้ผ่านระบบวิดีโอคอล และผู้ป่วยสามารถรายงานข้อมูลอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต รวมทั้งการบันทึกอาการทั่วไป เพื่อให้แพทย์ประเมินและให้คำปรึกษาในการรักษารายวัน ต่อมาได้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงและแพร่เชื้อได้เร็ว ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่กลุ่มสีเหลืองและแดงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการนำระบบ A-MED Telehealth มาประยุกต์ใช้กับระบบ HI และ CI ในการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว เพื่อลดอัตราครองเตียง มีผู้ป่วย COVID -19 สะสมที่ได้รับการดูแลผ่านระบบ A-MED Telehealth แล้วมากกว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญคือมีความร่วมมือกับ สปสช. ในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านหลักฐานการเบิกจ่าย หรือ PreAudit ตรวจสอบให้เสร็จก่อนจะจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกของหน่วยบริการในการส่งหลักฐานการเบิกจ่าย และร่วมกับ สพร. เชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่านระบบ DGA RC เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงและส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน นายแพทย์สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID -19 ที่แพร่ระบาด แม้จะเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่ทำให้เกิดการพัฒนานำเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างก้าวกระโดด ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดย A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยCOVID -19 ที่แยกกักตัวที่บ้านและการแยกกักตัวในชุมชน เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ สปสช. นำมาใช้เพื่อขยายการบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว ภายใต้ “โครงการร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวบริการ เจอ-แจก-จบ” ช่วยเพิ่มช่องทางรับบริการโดยเฉพาะที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ดี ซึ่ง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ได้เชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมให้บริการร่วมเป็นหน่วยบริการในโครงการนี้ มีร้านยาเข้าร่วมจำนวน 1,063 แห่ง (ข้อมูล ณ 8 มิ.ย. 65) โดยมีการเชื่อมโยงการบริการผ่านระบบ A-MED Telehealth นี้ ด้วยระบบ A-MED Telehealth ทำให้ร้านยาหรือผู้ให้บริการสามารถเห็นข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดได้ เช่น จำนวนวันที่อยู่ในระบบ รายงานอาการ และแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามอาการเพื่อติดตาม หากอาการแย่ลงจะได้ส่งต่อที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น โดยข้อมูลในระบบ A-MED Telehealth ยังใช้เป็นข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการได้
ด้วยศักยภาพของ A-MED Telehealth นี้ เชื่อว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การบริการสุขภาพด้านต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ยังได้พัฒนาหมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ (nSPHERE Pressurized Helmet) เพื่อเป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ใช้งานสะดวก โดยสามารถป้องกันละอองไอจามและฝุ่นด้วยการกรองที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการควบคุมแรงดันให้เหมาะกับประเภทของกลุ่มผู้ใช้งาน คือ หมวกแรงดันบวก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกสูงกว่าภายนอก และหมวกแรงดันลบ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกต่ำกว่าภายนอก โดยนาโนเทค สวทช. ได้อนุญาตให้บริษัท เวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด นำนวัตกรรมนี้ไปผลิตเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นาโนเทค สวทช. ได้ส่งมอบหมวกควบคุมแรงดันบวกลบจำนวนมากกว่า 1,000 ใบ ให้แก่โรงพยาบาลมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ จากการสนับสนุนด้านงบประมาณขององค์กร หน่วยงาน และบริษัทต่างๆ นวัตกรรมนี้ยังถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเคลื่อนย้าย เข้ารับการรักษา หรือทำหัตถการที่จำเป็น เช่น การฟอกเลือด ฟอกไต เป็นต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังมองโอกาสในการต่อยอดไปใช้ให้ยาทางอากาศหรือยาพ่นสูดในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาผลงาน สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker) เป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดรวมถึงผู้สูงอายุ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดิน ลดภาระการบาดเจ็บของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพการกายภาพบำบัด โดยผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 (Gold Award) จากงาน (i-CREATe 2017) และอีกหลายรางวัลต่อมา จนนักวิจัยสามารถตั้งบริษัทเมดิคิวบ์ จำกัด เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปผลิตและจำหน่าย ได้ขยายผลการใช้งานเพื่อยกระดับการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) ได้รับการพิจารณาจาก สำนักงบประมาณในการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ เมื่อเดือน มีนาคม 2565 เพื่อจะได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่คนไทยผลิตได้คุณภาพมาตรฐานและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามผลงานเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของความสำเร็จ ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวกระโดดในการพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทย