สวทช. เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ชุดความรู้เพื่ออาชีพแห่งอนาคต” ครบ จบ คุ้ม ยกระดับทักษะความรู้เดิม เสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต


สวทช. เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ชุดความรู้เพื่ออาชีพแห่งอนาคต” ครบ จบ คุ้ม  ยกระดับทักษะความรู้เดิม  เสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (Career for the Future Academy: CFA) เปิดตัว “สวทช. เสริมแกร่งศักยภาพด้าน วทน. ด้วย e-Learning ชุดความรู้เพื่ออาชีพแห่งอนาคต..ครบ..จบ..คุ้ม” เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ยกระดับทักษะความรู้เดิมและเสริมทักษะใหม่ๆที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต โดยการเสริมทักษะในรูปแบบ e-Learning  นี้ ซึ่งจะมีการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบ Onsite  รูปแบบ Online

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้สวทช. ปรับการเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจเรียนรู้ทั้งในรูปแบบ Onsite  รูปแบบ Online ในรูปแบบ e-Learning ผ่านองค์ความรู้กว่า 90 บทเรียน หลักสูตร เพื่อพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรือการ Upskill พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และ Reskill การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ บนพื้นฐานเทคโนโลยีการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญผู้ที่สนใจเรียนรู้สามารถเลือกเรียนเวลาไหนก็ได้ตามความสนใจของแต่ละบุคคล

สำหรับแพลตฟอร์มชุดความรู้เพื่ออาชีพแห่งอนาคต Career4Future e-Learning Platform ของสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. ได้พัฒนาเนื้อหาวิชาองค์ความรู้ จากวิทยากรมืออาชีพและหลากหลายสาขา เช่น ด้านบริหารธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้านพลังงาน ด้านอาหาร ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านขนส่งและการบินและด้านยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีความโดดเด่นของคลังปัญญาจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยหลากหลายสาขา รวมทั้งยังมีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดในรูปแบบคลิปวีดีโอซึ่งสามารถเข้าถึงและเข้าใจง่าย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายทุกสายอาชีพทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปและนิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำหรือมีงานทำแล้วที่ต้องการเสริมองค์ความรู้เพื่อนำไปปรับใช้ประกอบอาชีพเสริมองค์ความรู้และรายได้ โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมให้เลือกกว่า 90 บทเรียน พร้อมคลิปวีดีโอ ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เข้าถึงง่าย มีการวัดผลองค์ความรู้ภายหลังการเรียนการสอนในแต่ละคอร์สที่เรียนเพื่อรับใบรับรองผล ซึ่งมีทั้งหลักสูตรฝึกอบรมตามสายงานอาชีพและกลุ่มอุตสาหกรรม

ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า แพลตฟอร์มชุดความรู้ e-Learning เพื่ออาชีพแห่งอนาคต ครบถ้วนทั้งหลักสูตรและครอบคลุมทั้ง Soft skills และ Reskill และมีความหลากหลายต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้เรียนจะได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ในตัวเองครอบคลุมทุกอาชีพ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ทันที ที่สำคัญให้ความคุ้มค่ากับชุดความรู้สมัยใหม่ มีแบบทดสอบและรับใบประกาศนียบัตร การันตีในวิชาชีพและค่าลงทะเบียนอยู่ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ กว่า 90 บทเรียน แบ่งเป็นบทเรียนที่เข้าเรียนได้เลยโดยลงทะเบียนเข้ามาในระบบแพลตฟอร์มชุดความรู้ e-Learning ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 40 บทเรียนและที่เหลืออีกกว่า 50 บทเรียนต้องจ่ายเงิน  เช่น จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Human Research Ethics) ภาพรวมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) นักแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ (Practical Problem Solving) กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่สำคัญของ อุตสาหกรรมอัญมณี ความรู้พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีโรงปลูกพืชแนวตั้ง และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ผลิตสับปะรดนอกฤดูกาล ได้มาตรฐาน GAP ชุดตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรและสุขภาพ การจัดการเทคโนโลยี การตลาด การสร้างสรรค์ Content Infographic เพื่อการสื่อสารในยุคดิจิทัลและการการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น ส่วนหลักสูตรในอนาคตจะขยายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมอาชีพใหม่ๆ เช่น ช่างติดตั้ง EV ช่างติดตั้งโซล่าร์เซลล์การปลูกพืชกัญชาสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์และหลักสูตรด้านไอทีให้มากยิ่งขึ้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ e-Learning Platform นี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้าถึงง่ายในทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างแนวทางความคิดต่อยอดการพัฒนาความรู้ได้อย่างครบถ้วน และคุ้มค่าในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ดร.ศิริชัย กล่าว

สุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานการกรรม มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พลังงานทางเลือกไม่ว่าจะเป็นพลังงานความร้อน พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานไฟฟ้าเป็นบทเรียนที่น่าสนใจมาก ซึ่งประเทศไทยกำลังเสริมบทเรียนพลังงานทางเลือกเหล่านี้เข้าสู่หลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตนิสิตนักศึกษาออกมารองรับตลาดแรงงานในอนาคตร่วมกันพัฒนาประเทศด้านพลังงานให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนและผู้เชี่ยวชาญค่อนข้างที่จะมีจำนวนจำกัด โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะอยู่ในองค์กรหน่วยงานขนาดใหญ่ ทำให้ราคาของหลักสูตรค่อนข้างสูงและระยะเวลาการเรียนรู้จำกัด  เมื่อสวทช.ได้เปิดแพลตฟอร์มชุดความรู้เพื่ออาชีพแห่งอนาคต Career4Future e-Learning Platform และนำองค์ความรู้ด้านพลังงานทางเลือกมาผนวกใส่ไว้ในแพลตฟอร์มนี้ด้วย จะช่วยให้การเข้าถึงการเรียนรู้ สร้างโอกาสให้กับผู้สนใจเรียนรู้สายวิชาชีพพลังงานทางเลือกในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังสามารถเลือกช่วงเวลาเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะไปซ้ำซ้อนกับช่วงเวลาที่ทำงานหลักที่บริษัท สามารถใช้เวลาช่วงว่างๆ เข้าเรียนออนไลน์ที่บ้านหรือที่ทำงานได้ ที่สำคัญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ทำงานวิจัย และทำงานจริงด้านพลังงาน ซึ่งได้การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

รศ.ร.อ.ดร. วีระเชษฐ์ ขันเงิน กรรมการนโนบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กรรมการบริหารด้านวิจัยและนวัตกรรม บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นความหวังของคนทั่วโลกที่จะนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิสที่กำลังจะหมดไป โดยแต่ละประเทศต่างคิดค้นงานวิจัยรองรับไม่ว่าจะเป็นระบบปลั๊กอินไฮบริด สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ผลิตแบตเตอรี่ มาตรฐานต่างๆ สร้างนักวิจัยและผลิตต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้ารับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าออกมาใช้หลากหลายรูปแบบ 

สำหรับประเทศไทย กระแสยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเกือบ 10 ปี และมีการทำงานวิจัยรองรับมาอย่างต่อเนื่องแต่ยังขาดองค์ความรู้ นักวิจัย เงินสนับสนุนและนโยบายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้วงการยานยนต์ไฟฟ้าของไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียได้ เพราะประเทศไทยมีต้นทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ดีและต่างประเทศยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง 

หลักสูตร e-Learning ของทาง สวทช. ที่มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังองค์ความรู้นี้ เป็นอีกช่องทางที่จะสร้างบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้เศรษฐกิจไทยกลับมาน่าสนใจลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากนักลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศในอนาคต

รศ.ร.อ.ดร. วีรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save