สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนไทย ส่งโปรแกรมประมวลผลบนสถานีอวกาศนานาชาติเข้ามาแข่งขัน ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 60,000 บาท สามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้ในทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี เปิดรับใบสมัครจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยทีมชนะเลิศจะได้เข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศในเดือนกันยายน 2564
JAXA ให้สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ ครั้งที่ 2 รอบชิงแชมป์ประเทศไทย
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัด โครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 60,000 บาท เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา และเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อม สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ ของกระทรวง อว. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้สวทช. ได้รับเกียรติจาก JAXA ประเทศญี่ปุ่นให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยเยาวชนที่สนใจต้องรวมทีมให้ได้ 3 คน แล้วสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งเปิดรับใบสมัครตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-16 พฤษภาคม พ.ศ.2564 จากนั้นจะคัดเลือกทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนทีมเยาวชนจากประเทศไทย โดยดูผลคะแนนการรันโค้ดในระบบซิมูเลชันของ JAXA เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศ โดยถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านศูนย์ควบคุมอวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน ศกนี้
เผยเยาวชนไทยร่วมโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 1 สูงสุดในเอเชีย-แปซิฟิก
ในการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา มีเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 453 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเยาวชนที่ชนะเลิศจากการโครงการแข่งขัน ได้แก่ ทีม wonSpace-Y ซึ่งมีสมาชิกในทีม 3 คน หลังจากชนะการแข่งขันได้มาถอดบทเรียนเล่าประสบการณ์เป็นประโยชน์จากการเข้าร่วมการแข่งขัน เช่น การเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการเขียนโปรแกรม และทักษะการทำงานจริงของทีมวิศกรระดับโลกเช่น NASA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเรียนและการทำงานในอนาคตของเยาวชนเหล่านี้
สวทช.ส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนไทยด้านอวกาศของไทยมากว่า 10 ปี
สวทช.ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนไทยในด้านวิทยาการอวกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ตั้งแต่โครงการทดลองวิทยาศาสตร์ในภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือ Parabolic Flight ผลิตบุคลากรวิจัยระดับเยาวชน จำนวน 27 คน สามารถต่อยอดศึกษาต่อ และทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และโครงการทดลองปลูกพืชเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างบนอวกาศและบนพื้นโลก หรือ Asian Herb in Space ที่มีเยาวชนไทยทั่วประเทศร่วมการทดลองมากกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อเนื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทย ในการสื่อสารกับนักบินอวกาศญี่ปุ่น ส่งแนวคิดการทดลองวิทยาศาสตร์สู่อวกาศ ในโครงการ Asian Try Zero-G ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2562 การทดลองของเยาวชนไทยได้จำนวน 9 คน ได้ถูกนำขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศญี่ปุ่นเป็นผู้ทำการทดลอง
ล่าสุดโครงการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยสร้างเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมสำหรับเยาวชนไทย กับโอกาสที่จะได้เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA ที่ใช้งานจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ แข่งขันร่วมกับเยาวชนจากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ในอนาคตบุคลากรเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นหลัง ในการทำตามความฝันและมุ่งมั่นในการศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดย สวทช. เป็นผู้สร้างเครือข่ายและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
รองผู้อำนวยการสวทช. กล่าว
อนาคตของอวกาศไทย
สำหรับอนาคตของอวกาศไทยนั้น ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ให้เติบโตและเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในอนาคต จึงได้มีแผนการสนับสนุนการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจ อุตสาหกรรม และงานด้านอวกาศของประเทศไทยเช่น การตั้งภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thai Space Consortium โดยมีเรื่องของการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับเยาวชนอยู่ในแผนด้วย
เดินหน้าสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมอวกาศไทย
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กาดำเนินการเรื่องอวกาศนั้น จะต้องมีฐานและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จากนั้นจะต้องมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะเรื่องอวกาศเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงและน้อยคนที่จะสนใจ อีกทั้งในประเทศไทยมีการเรียนการสอนน้อยมากจึงต้องดึงดูดเยาวชนที่เก่งๆด้านวิทยาศาสตร์ที่มากพอมาเป็นแกนนำริเริ่มเรื่องอวกาศ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ปลูกฝังการเรียนการสอนด้านอวกาศให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีงบประมาณจากภาครัฐให้การสนับสนุนต่อเนื่องในระยะยาวและให้นักเรียนนักศึกษาเยาวชนไทยได้ไปสัมผัสเรียนรู้แลกเปลี่ยนเรื่องอวกาศของจริงในต่างประเทศที่รัฐบาลมีความร่วมมือ เช่น ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเรื่องอวกาศในเรื่องต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่เยาวชนไทยมีโอกาสได้ไปเร่วมฝึกทักษะด้านอวกาศกับเยาวชนระดับนานาชาติและการทำงานวิจัยร่วมมือของนักวิจัยไทยในระดับนานาชาติด้านอวกาศ เป็นต้น
การที่จะสร้างกำลังคนให้พร้อมนั้น ประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี หรือมากกว่า เพราะขณะเรามีหน่วยงานเพียง 2 หน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องอวกาศจากทางภาครัฐ คือ สวทช.และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่พร้อมที่จะเปิดเวทีในเรื่องอวกาศให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนในอนาคตนั้นอยากเห็นหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น
GISDA มุ่งสร้างบุคลากรด้านอวกาศให้มากขึ้นรองรับอุตฯ อวกาศไทยในอนาคต
ปราณปรียา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า การสร้างความรู้เรื่องอวกาศเป็นเรื่องที่GISTDA ได้ดำเนินการมาโดยตลอดตามแผนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนด้านอวกาศของไทยให้มีความก้าวหน้า ทั้งด้านกำลังคน สร้างงานอวกาศฝีมือคนไทยจากเยาวชนไทยมากขึ้น เพื่อที่จะสร้างอาชีพด้านอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ไปยืนในเวทีสากลในอนาคต ซึ่งหลายๆกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสร้างกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยให้เกิดขึ้น ลดการสั่งซื้อนำเข้าอุปกรณ์ทางอวกาศที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับ โครงการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมนำบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอวกาศจะช่วยบ่มเพาะเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการให้เกิดจินตนาการสร้างองค์ความรู้ ฝึกทักษะ จากการลงมือทำจริง ในห้อง Lab ของ GISTDA ผ่านโลกกว้างจากของจริง
นอกจากนี้ GISTDA ยังมีความร่วมมือในการนำเยาวชนไปท่องโลกอวกาศร่วมกับ NASAนาซ่า ในหลายๆโครงการมาแล้ว และยังเปิดโอกาสให้กับผู้ที่จะเข้าสู่ด้านอาชีพในการเรียนรู้สารสนเทศด้านอวกาศ ในทุกๆระดับปริญญาทั้ง ตรี โทและเอก เพื่อสร้างบุคลากรด้านอวกาศให้มีจำนวนมากขึ้นรองรับอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต
ไทยยังขาดกำลังคนหนุนอุตฯสาอวกาศในรูปแบบของการผลิตชิ้นส่วนอวกาศในอนาคต
ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า อวกาศเป็นเรื่องของความชอบ จะต้องมีการปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ใส่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เยาวชนไทยที่สนใจได้เรียนรู้ ต่อยอดในอนาคตที่เราจะปลูกฝังบ่มเพาะตั้งแต่เล็กๆโดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีงบประมาณในการดำเนินการลงทุนอย่างจริงจัง เพราะในอนาคตอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ประเทศไทยมีความพร้อมด้านอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่นานาชาติยอมรับมาอย่างยาวนาน แต่เรายังขาดกำลังคนที่จะเข้าไปผลักดันไปสานต่อให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นเติบโตขึ้นจนกลายเป็นการสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในรูปแบบของการผลิตชิ้นส่วนอวกาศในอนาคต ดังนั้นการสร้างกำลังคนควรเริ่มสร้างตั้งแต่ตอนนี้ อย่าทำให้เป็นเพียงการดำเนินการเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มจพ. กล่าว
แนะรัฐเป็นผู้นำเทคโนโลยีดาวเทียมสู่ห้องเรียน ถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรในประเทศ
เอกชัย ภัคดุรงค์ หัวหน้าสายงานภาครัฐกิจ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะสร้างคนไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้นั้นเราควรต้องปรับเปลี่ยนใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี 2.การใช้งานของคนและ3.นโยบายภาครัฐ ซึ่งหากประเทศไทยมีครบ 3 เรื่องแล้ว การสร้างคนในการก้าวสู่อุตสาหกรรมอวกาศของไทยไม่ใช่เรื่องยากเกินฝัน เพราะในขณะนี้เทคโนโลยีอวกาศมีเพียงไม่กี่องค์กร ไม่กี่หน่วยงานและไม่กี่คนที่พอจะมีองค์ความรู้และมีศักยภาพในการนำมาถ่ายทอดสู่เยาวชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญเทคโนโลยีอวกาศเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากหากเราไม่เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีของไทยเองตั้งแต่ตอนนี้คงยากที่จะเริ่มสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อจากต่างประเทศ เชื่อมโยงจากท้องฟ้า จากดาวเทียม สู่ภาคพื้นดิน สู่ห้องเรียนพร้อมถ่ายทอดสู่บุคลากรในประเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ มีเวทีนานาชาติในการแลกเปลี่ยนเรื่องอวกาศ เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ของคนไทยเอง แล้วถ่ายทอดสู่กลุ่มคนที่มีพื้นฐานเรื่องอวกาศอยู่แล้ว เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่กลุ่มคนที่มีความรู้มีความชอบในเรื่องอวกาศด้วยกัน จะช่วยให้การขับเคลื่อนการใช้งานเกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้น ซึ่งต้องให้เวลาในการสร้างเทคโนโลยีและสร้างกำลังคนอย่างน้อย 5 ปี
หัวหน้าสายงานภาครัฐกิจ ไทยคม กล่าว
ในส่วนของงบประมาณที่ภาครัฐยังมีอยู่อย่างจำกัดแต่เชื่อว่าหากภาพอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยชัดเจนขึ้นจากการสนับสนุนภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ในอนาคตภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมสนับสนุนเรื่องงบประมาณอย่างแน่นอน