กรุงเทพฯ 21 พฤศจิกายน 2562 : จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาว เมื่อเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลาประมาณ 06.50 น. ในระดับความรุนแรงประมาณ 6.4 และรับรู้ได้ในพื้นที่ทางภาคเหนทอของไทย เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย และในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในอาคารสูง เบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลัง เช่น ตัวบ้านที่สร้างจากปูนมีรอยร้าวทั้งหลัง หลังคา ฝ้าเพดานพังถล่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว สภาวิศวกรเผยสภาพชั้นดินของกรุงเทพมหานคร เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล จึงขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้ ทำให้อาคารสูงในกรุงเทพมหานครรับรู้ถึงแรงแผ่นดินไหว พร้อมให้คำแนะนำ 3 แนวทางสำหรับคนกรุงเทพมหานคร ในการเตรียมความพร้อมรับมือจากแผ่นดินไหว
ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ในประเทศไทยมีอาคารจำนวนมากที่ถูกก่อสร้าง โดยไม่มีการควบคุมจากวิศวกร ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายหรือพังทลายได้หากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงในบริเวณใกล้เคียง ปัญหาของอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกจำกัดด้วยงบประมาณ และความรู้ในการก่อสร้างทำให้มีจุดอ่อนในหลายลักษณะ จึงควรได้รับการดูแล จัดการ และแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในเวลานี้ คือ อาคารสูงในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสภาพชั้นดินของกรุงเทพมหานคร เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของกรุงเทพมหานคร จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก จึงทำให้อาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว โดยอาคารสูง เช่น คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร หากก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา
นอกจากนี้พื้นที่รอยเลื่อนเดิมที่เคยได้รับผลกระทบโดยเฉพาะรอยเลื่อยบริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศไทย บริเวณจังหวัดกาญจนบุรีจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมีการเตรียมพร้อมและขอให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะการก่อสร้างในแต่ละอาคาร จะมีวิศวกรทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว
“สภาวิศวกรอยากให้ทางกระทรวงมหาดไทยเร่งออกกฎกระทรวง กำหนดรับรองน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่พร้อมเร่งบรรจุพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวเดิมที่มี 22 จังหวัดเป็น 43 จังหวัด เนื่องจากรอยเลื่อนต่าง ๆที่พาดผ่านมีความเสี่ยงและส่งสัญญาณรอเวลาที่จะสั่นไหวได้ทุกเวลา ถึงแม้ว่าอาคารขนาดไม่สูงน้อยกว่าตึกสูง 5 ชั้นจะไม่ได้รับรู้แรงสั่นไหว แต่การเตรียมความพร้อมไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางแผ่นดินไหวขึ้น” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว
ดร.เอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรเสนอ 3 แนวทางเตรียมพร้อมคนกรุงเทพมหานครรับมือแผ่นดินไหว คือ 1. จัดอบรมให้ความรู้ประชาชน เรื่องผลกระทบจากแผ่นดินไหว วิธีการดูแลอาคารให้ปลอดภัย 2. มีการตรวจสอบอาคารตามความเสี่ยง โดยแบ่งประเภทของอาคารตามความเสี่ยง เช่น สีแดง อาคารเก่าที่เสี่ยงมาก ต้องปรับปรุง เสริมโครงสร้างทันที สีส้ม อาคารที่เสี่ยงระดับกลาง ที่ต้องหมั่นตรวจสอบ ตามกำหนด และ สีเหลือง อาจมีความเสี่ยง เช่น มีการต่อเติม และ 3. มีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทางทัน พร้อมกันนี้ สภาวิศวกร ขอเชิญชวนประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในการรายงานผลการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตั้งเครื่องมือวัดอัตราเร่ง และเป็นฐานข้อมูลที่ช่วยให้การออกแบบเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของอาคารในอนาคต มายังสภาวิศวกร หรือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยมีรายละเอียดดังนี้ ชื่อผู้รายงานผล ที่ตั้งอาคารที่อยู่อาศัย พร้อมระบุชั้น และเวลาเกิดเหตุ ณ ขณะนั้น
กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ กรรมการสภาวิศวกร กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้า โรงงานแก๊สต่าง ๆและสถานประกอบการเหมืองแร่ใต้ดินบริเวณพื้นที่เกิดแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ แม้ว่าขณะนี้ไม่มีรายการเกิดความเสียหาย แต่ทางสภาวิศวกรยินดีและพร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบให้หากผู้ประสานเข้ามาเพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนโดยรอบ