กรุงเทพฯ – 27 กุมภาพันธ์ 2565 : สภาวิศวกร ระบุเหตุการณ์กรณี สะพานข้ามคลองเคล็ด บริเวณถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 53 ทรุดตัว เกิดจากท่อส่งน้ำรั่วกระทบฐานรากสะพาน โดยสำรวจพบความเสียหาย 4 จุด ได้แก่ สะพานข้ามคลองเคล็ด ฐานรับท่อประปา พื้นถนน และบ้าน/อาคารที่อยู่อาศัย โดยล่าสุด ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 2 ขั้นตอนดังนี้ 1. หยุดความเสียหาย โดยการทิ้งกระสอบทรายเพื่อชะลอการรั่วไหลของน้ำ และ 2. คืนสภาพการจราจรชั่วคราว ด้วยการก่อสร้างสะพานชั่วคราว Temporary Bridge สำหรับวิ่ง 2 เลน ในขนาดความกว้างที่ 7 เมตร ยาว 60 เมตรโดยประมาณ และจำกัดวิ่งเฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น ทั้งนี้ สภาวิศวกรพร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างสะพาน เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโครงสร้างอาคารและบ้านเรือนข้างเคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
รศ. เอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร เปิดเผยว่า ตามที่สภาวิศวกรได้รับแจ้งเหตุความสาเหตุความเสียหายจากการทรุดตัวของพื้นดินบริเวณโดยรอบ โครงสร้างฐานรับท่อประปา และสะพานข้ามคลองเคล็ด บริเวณถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 53 ซึ่งเกิดจากปัญหาน้ำรั่วเข้าปล่องอุโมงค์ระบายน้ำของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยพบความเสียหายใน 4 จุดได้แก่ 1. สะพานข้ามคลองเคล็ดเสาเข็ม/โครงสร้างเกิดการทรุดตัว 2. ฐานรับท่อประปา ฐานรองรับเกิดการทรุดตัว ท่อประปาแตกเสียหาย 3. พื้นถนน เกิดการทรุดตัวเสียหาย และ 4. บ้านและอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุทางผู้รับจ้างได้ส่งทีมงานเข้าดูแลและช่วยเหลือกับผู้เสียหายทุกรายในทันที นอกจากนี้ ทางผู้รับจ้างยังได้เสนอแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
- ดำเนินงานเพื่อหยุดความเสียหาย (Balance Water Pressure) จากดินโดยรอบทรุดตัว เนื่องจากสภาพภายในพบดินทะลักเข้ามาภายใน และมีจุดที่น้ำรั่ว มีการดำเนินการใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
- ทิ้งกระสอบทรายภายในปล่อง Shaft S4 เพื่อกั้นทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงสภาพภายในให้มีความแข็งแรง และทำการเติมน้ำในปล่อง
- ปล่อง Shaft S2 จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำลงภายในปล่อง โดยจะเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ที่ Shaft S1 เพิ่มเติม
- ทิ้งกระสอบทรายภายในปล่อง Shaft S3 เพื่อชะลอการรั่วไหลของน้ำ โดยวัดระดับน้ำที่ Shaft S4
- ทำการสูบน้ำลงใน Shaft S2 และ Shaft S1 ให้ระดับน้ำภายในอุโมงค์ เท่ากับระดับน้ำใต้ดิน โดยวัดระดับน้ำที่ Shaft S4
สำหรับมาตรการการเฝ้าระวังและการตรวจสอบ สามารถทำได้โดย ตรวจวัดการทรุดตัวของอาคารบริเวณโดยรอบและพื้นถนน และตรวจสอบระดับน้ำที่ Shaft S4 ระหว่างการทำการเติมน้ำจากปล่อง S2 และ S1
- ดำเนินงานคืนสภาพการจราจรชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบการจราจรให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณที่ได้รับความเสียหายและบริเวณข้างเคียง ผ่านการดำเนินงานใน 3 ขั้นตอนดังนี้ 1.) รื้อถอนโครงสร้างสะพานที่เสียหาย 2.) ก่อสร้างสะพานชั่วคราว (Temporary Bridge)เพื่อคืนสภาพการจราจร 2 เลน ความกว้าง 7 เมตร ยาว 60 เมตรโดยประมาณโดยจำกัดวิ่งเฉพาะรถ 4 ล้อ เท่านั้น และ 3.) จัดทีมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่จราจรอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ มาตรการการเฝ้าระวังและการตรวจสอบคือตรวจสอบสภาพพื้นที่การยืนเครื่องจักรขณะรื้อถอนสะพานที่เสียหาย
“อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการซ่อมแซมของผู้รับจ้างวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) นับตั้งแต่เวลา 17.00 – 04.00 น. พบว่า ระดับการทรุดตัวของดินมีการยึดตัวติดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. สภาวิศวกร นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ รองเลขาธิการสภาวิศวกร พร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. และวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างสะพาน เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโครงสร้างอาคารและบ้านเรือนข้างเคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของดินฐานรากบริเวณอื่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชนในบริเวณดังกล่าว รศ. เอนก กล่าวทิ้งท้าย