สภาวิศวกรชี้แผ่นดินไหวตุรเคีย – ซีเรีย สัญญาณเตือนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก แนะอาคารใหม่ในกรุงเทพฯ ต้องออกแบบป้องกันแผ่นดินไหว


รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม  สภาวิศวกร
รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร

กรุงเทพฯ – 9 กุมภาพันธ์ 2566 – สภาวิศวกร ชี้แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งในตุรเคีย (เดิมคือตุรกี) และซีเรีย โครงสร้างพื้นฐาน และอาคารบ้านเรือนเสียหายนับพัน ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งกระฉูด ย้ำไทยมีรอยเลื่อนเฝ้าระวังหลายจุด รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นดินอ่อน ต้องเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนเป็นพิเศษ เตือนประชาชนหากอยู่ในอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหวควรหลบที่ใต้โต๊ะ และหาสิ่งของป้องกันศีรษะ ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมพร้อมส่งทีม USAR Thailand เข้าช่วยเหลือหากมีการร้องขอ

          รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม  สภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากกรณีแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งในตุรเคียและซีเรีย โดยแผ่นดินไหวในครั้งนี้ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในบริเวณนั้น นับตั้งแต่                                     ปี 1939 นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการถล่มของโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารบ้านเรือนในช่วงเวลาเช้ามืดที่ประชาชนกำลังนอนหลับพักผ่อน โดยศูนย์กลางในการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้อยู่บริเวณรอยเลื่อนอะนาโตเลียตะวันออก อยู่ห่างจากเมืองเนอร์ดากิไปทางตะวันออก 26 กิโลเมตร ในจังหวัดกาเซียนเท็ป โดยอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 18 กิโลเมตร สร้างความเสียหายทั้งในประเทศตุรเคียและซีเรีย

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุความรุนแรงดังกล่าวพบว่า แผ่นดินไหวเกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเคลื่อนที่เข้าหาหรือแยกจากกัน ก่อให้เกิดการสะสมพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง พลังงานที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกมีลักษณะเป็นคลื่น และเมื่อมาถึงพื้นผิวจะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน จนกลายเป็นแผ่นดินไหวในที่สุด โดยหากเกิดขึ้นในมหาสมุทรก็มีโอกาสเกิดสึนามิขึ้นได้ อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาคือ โครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนที่เกิดการถล่มและทรุดตัวลงเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า12,000 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 20,000 คน โดยปัจจุบันยังคงมีประชาชนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีหิมะตกหนัก ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย

รศ. เอนก กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีรอยเลื่อนที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ในหลากหลายพื้นที่ จึงต้องมีการศึกษาและอัปเดทข้อมูลอยู่ตลอด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่จะตามมา ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนในประเทศไทย กระทรวงมหาดไทยมีการออก “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 โดยแบ่งบริเวณเฝ้าระวังออกเป็น 3 บริเวณ แบ่งตามระดับการได้รับผลกระทบ รวม 43 จังหวัด โดยมีประกาศกระทรวงเพื่อการนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในบริเวณที่อยู่ในการบังคับเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน อยู่ใกล้รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในจังหวัดกาญจนบุรี จึงต้องมีการออกแบบอาคารที่สร้างใหม่ให้รัดกุม และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หรือมีเทคโนโลยีทางด้านการก่อสร้าง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเพื่อให้ป้องกันเหตุแผ่นดินไหวได้ ในขณะที่อาคารเก่าก็ควรมีการพิจารณาปรับปรุง และปิดจุดด้อยที่จะทำให้เกิดอาคารถล่มด้วยเช่นกัน

“ด้านประชาชน เมื่อพบกับเหตุแผ่นดินไหวเมื่ออยู่ในอาคารควรพยายามหาสิ่งของในการป้องกันศีรษะหรือหลบใต้โต๊ะ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงให้ห่างจากชั้นวางของ หรือชั้นหนังสือริมผนัง เนื่องจากอาจมีการโค่นล้มลงมาทับได้ นอกจากนี้ไม่ควรอยู่ใกล้หน้าต่าง เนื่องจากหากเกิดการแตกของกระจกจะทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ หลังเกิดเหตุควรตรวจสอบว่าอาคารมีการชำรุดเสียหายหรือไม่ ตรวจสอบท่อน้ำ สายไฟ สายแก๊สว่ามีการชำรุดหรือไม่ หากมีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งควรแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขโดยเร็ว” รศ. เอนก กล่าว

ผศ. ดร.ธเนศ วีระศิริ กรรมการสภาวิศวกร และประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติและความปลอดภัยสาธารณะ สภาวิศวกร

ด้าน ผศ. ดร.ธเนศ วีระศิริ กรรมการสภาวิศวกร และประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติและความปลอดภัยสาธารณะ สภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือปภ. เตรียมพร้อมส่งทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue) หรือ USAR Thailand เข้าช่วยกู้ภัยแผ่นดินไหวตุรเคีย-ซีเรีย ซึ่งในทีมจะประกอบไปด้วย ทีมการจัดการ ทีมการค้นหา ทีมการกู้ภัย ทีมการแพทย์ และทีมโลจิสติกส์ โดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้าง และได้รับการอบรมด้านการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองเป็นหนึ่งในทีมกู้ภัย เพื่อประเมินและวิเคราะห์หาแนวทางการกู้ภัยที่เหมาะสมที่สุด โดยทีมไทยก็ได้เตรียมพร้อมเดินทางและเข้าช่วยเหลือทันทีหากได้รับสัญญาณ นอกจากนี้สภาวิศวกรยังมีทีมวิศวกรอาสาที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเกิดโศกนาฏกรรมจากสถานการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงนี้ ทางสภาวิศวกรจะติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมศึกษาเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันเหตุในประเทศไทยอย่างท่วงที


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save