กรุงเทพฯ – 3 มีนาคม 2565 : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 ขึ้น เพื่อประกาศรายชื่อองค์กรไทยจากหลากหลายภาคส่วนที่มุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง จนสามารถคว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) แสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก โดยในปี พ.ศ.2564 นี้มีองค์กรที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 14 องค์กร
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงความยากลำบากในการทำงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถฝ่าฟันปัญหาวิกฤต COVID-19 สงครามการค้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและล่าสุดสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะยุติลงเมื่อใดนั้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานร่วมกันจนหลายๆส่วนงานสามารถที่จะยกระดับพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมของตนเองให้สามารถอยู่รอดและฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายๆภาคส่วนที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้การสนับสนุนนวัตกรรม เทคโนโลยีเงินทุนสนับสนุนและรางวัลที่จะสร้างขวัญและกำลังใจแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจได้ดีและโดดเด่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง สร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค วิถีชีวิตที่ยั่งยืนและปัจจัยการสนับสนุนสร้างขีดความสามารถพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีศักยภาพผ่านหน่วยงานต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรมและพันธมิตรภาคเอกชน
สำหรับการจัดมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมมีขึ้น ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลระดับโลกเนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Baldrige National Quality Award (BNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
โดยเกณฑ์การมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติจะมีบทบาทในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3 ด้าน คือ ช่วยปรับปรุงกระบวนการ ขีดความสามารถ และผลลัพธ์ช่วยกระตุ้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างองค์กรต่างๆ และเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการทำความเข้าใจและบริหารจัดการผลการดำเนินการขององค์กร ชี้นำความคิดในเชิงกลยุทธ์และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทั้งยังช่วยให้องค์กรปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันและผลลัพธ์ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินผลต่างๆเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และขีดความสามารถขององค์กรไทยอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกองค์กรเข้ารับรางวัลตามเกณฑ์การคัดเลือกในทุกๆ ปีอย่างสุจริต โปร่งใส โดยเกณฑ์การคัดเลือกรางวัลคุณภาพแห่งชาตินั้นทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารองค์กรได้ เพื่อสร้างความพร้อมต่อการเติบโตขององค์กร ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงการการบริหารองค์กร ตามข้อกำหนดต่างๆ ของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติใน 7 ด้านที่สำคัญในการจัดการ และการดำเนินการขององค์กร ได้แก่ การนำองค์กร กลยุทธ์ ลูกค้า การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ บุคลากร การปฏิบัติการและผลลัพธ์เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตขององค์กร
สำหรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในปี พ.ศ.2564 นี้ มีองค์กรจากหลายภาคธุรกิจจำนวน 27 องค์กร สมัครขอรับรางวัล ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก ประกอบด้วย ภาคการผลิต การบริการ การสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงภาครัฐ และภาครัฐวิสาหกิจ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการส่งเสริมให้มีการใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างแพร่หลายทุกภาคส่วน แม้ทั้ง 27 องค์กรที่สมัครเข้ามาจะไม่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติทั้งหมด แต่ก็ได้ประสบการณ์ องค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ มีผลผลิต มีบุคลากร เทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมกับการทำงานภายในองค์กรและขีดความสามารถที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของการบริหารงานภายในองค์กรตามเกณฑ์การวัดคุณภาพที่ปรับเปลี่ยนตามวิกฤตในแต่ละช่วงเวลาที่ใช้เป้นเกณฑ์วัดคุณภาพองค์กรในระดับโลก ซึ่งรางวัลนี้ไม่แบ่งประเภทและไม่จำกัดจำนวนรางวัล องค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนน จะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว แต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC)
สำหรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) จะมอบให้องค์กรที่มีคะแนนรวม 450 คะแนนขึ้นไป จากนั้นจึงพิจารณาว่าองค์กรมีคะแนนหมวด 1 รวมทั้งคะแนนในหมวด และ Result ที่เกี่ยวข้อง ในระดับ Band Score 50-65% ขึ้นไป และที่สำคัญคือมีแนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่สะท้อนการได้รับรางวัลทั้ง 4 รางวัล คือ TQC Plus: Customer TQC Plus: People TQC Plus: Operation และTQC Plus: Innovation โดยในปี พ.ศ.2564 นี้มีองค์กรที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 14 องค์กร ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีองค์กรได้รับรางวัลมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและอยากให้มีองค์กรได้รับรางวัลเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆไปในประเทศไทย ได้แก่
1.รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เคยได้รับรางวัล TQC ในปี พ.ศ. 2549, 2555 – 2557)
2.รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: Innovation – TQC Plus: Innovation) จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
3.รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า (Thailand Quality Class Plus: Customer – TQC Plus: Customer) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
4.รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านบุคลากร (Thailand Quality Class Plus: People – TQC Plus: People) จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและโรงพยาบาลพญาไท 2
5.รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) จำนวน 8 องค์กร ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และโรงไฟฟ้าวังน้อย
“ในปีต่อๆ ไปหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆของประเทศไทยจะมุ่งมั่นพัฒนาองค์กร เตรียมพร้อมองค์กรตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อนำเกณฑ์ต่างๆไปใช้ทำความเข้าใจและบริหารจัดการผลการดำเนินการขององค์กร ชี้นำความคิดในเชิงกลยุทธ์และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ทั้งช่วยให้องค์กรปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันและผลลัพธ์ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินผลต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กร ซึ่งจะนำองค์กรให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางธุรกิจในแต่ละด้านต่อไป” ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าว