สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “35 ปี GS1 Thailand มุ่งมั่น ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาไทยให้ยั่งยืน” มุ่งยกระดับมาตรฐานสินค้าและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สมดุลและยั่งยืน
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะหน่วยงานหลักของภาคเอกชน มีพันธกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืนในทุกด้าน สอดรับกับนโยบาย “One FTI” ซึ่งประกอบด้วย One Vision One Team One Goal เป้าหมายเดียวกัน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ไปพร้อมกับอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next – GEN Industries) ผ่านความร่วมมือระหว่าง 46 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 11 คลัสเตอร์ ซึ่งทุกกลุ่มทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ช่วยประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตลอดจนมุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่สากล
ในยุคปัจจุบัน โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปและพัฒนาบริการให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสถาบันรหัสสากล หน่วยงานภายใต้การดูแลของ ส.อ.ท. ถือเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานหลักในด้านการนำระบบมาตรฐานสากล GS1 ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีบาร์โค้ดภายใต้มาตรฐานสากล GS1 มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ลดต้นทุน และบริหารจัดการซัพพลายเชน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในสากล
สำหรับความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญและต้องเร่งหามาตรการรับมือแก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น 1.กับดักรายได้ปานกลางที่ประเทศไทยยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 2.หนี้ครัวเรือนที่นับวันจะยิ่งพุ่งสูงและฉุดให้ประเทศขับเคลื่อนช้าลง หนี้ธุรกิจและ Non-Performing Loan : NPL คือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย เกิดจากการที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระคืนติดต่อกันเป็นระยะมากกว่า 3 เดือน ต้องเร่งแก้ไขและเร่งสร้างระเบียบวินัยในการขอสินเชื่อไม่ให้เกินกำลังความสามารถของการผ่อนชำระในแต่ละรายอุตสาหกรรมและรายบุคคล 3.ดอกเบี้ยปรับขึ้น ทำให้การผ่อนชำระหนี้สินต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่สูงตามไปด้วย การปลอดหนี้และชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดถือเป็นวินัยการเงินที่สำคัญที่ผู้ประกอบการทุกๆภาคส่วนต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ได้ 4.การขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม อาจเป็นเพราะราคาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีต้นทุนที่สูงเกิน อีกทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ควรเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ด้วยเพื่อป้องกันข้อมูลการผลิต ข้อมูลส่วนผสม ข้อมูลลูกค้าและอื่นๆหลุดออกไปสร้างความเสียหายทางการค้าระหว่างกันด้วย 5.ขาดแคลนแรงงาน ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนำเจ้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆมากขึ้นในแต่ละปี เพราะแรงงานในประเทศในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งแรงงานที่มีฝีมือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทำงานได้หลากหลายมีคุณภาพของไทยถูกคู่แข่งทางการค้าในต่างประเทศซื้อตัวในราคาค่าแรงที่สูงไปร่วมงานมากขึ้น 6.ต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้นตามไปด้วยเพื่อไม่ต้อแบกรับภาวะต้นทุนที่สูงซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการขาดทุนและต้องปิดกิจการในท้ายที่สุด 7.กฎหมายล้าสมัย ต้องยอมรับว่ากฎหมายทางการค้าการลงทุนของประเทศไทยหลายฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังล้าสมัย จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ตามยุคสมัย การค้าการลงทุนเพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้กับนานาประเทศรวมทั้งเป็นแรงสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนเรื่องศุลกากร เป็นต้น 8.ปัญหาทางด้านการเมือง ประเทศไทยเผชิญปัญหาการเมืองมาอย่างยาวนาน และเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น นำนโยบายการค้าการลงทุน นโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวมาใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างรายได้กลับเข้าประเทศไม่สร้างความขัดแย้งกันเองทางด้านการเมืองจนนำไปสู่ปัญหาการเมืองอย่างในอดีตอีก 9.สังคมผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การดำเนินนโยบายและการเตรียมมาตรการรับมือสังคมผู้สูงอายุของไทยยังช้าและจำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มๆ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา การจัดสวัสดิการต่างๆ แต่กลับไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับการเตรียมการตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน จึงเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องกลับมาสนใจจริงๆ เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศของเรา รวมทั้งการส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติด้วย และ10.ภัยพิบัติเป้าหมาย Net Zero ต้องเร่งหามาตรการรับมือภัยพิบัติในประเทศและรับมือภัยพิบัติจากต่างประเทศที่จะเข้ามากระทบต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เช่น ภัยพิบัติจากการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น ส่วนเป้าหมาย Net Zero การจัดการกับปัญหาสภาวะอากาศ ตามข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ลดการปลดปล่อยจากกิจกรรมทางธุรกิจปกติ อย่างครอบคลุมโดยการขจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ ภาคอุตสาหกรรมของไทยจำเป็นต้องเร่งนำมาตรการในการผลิตมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เช่นนั้นจะถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศได้
ดร.คมสัน เหล่าศิลปเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวว่า สถาบันฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร อยู่ภายใต้กำกับดูแลโดย ส.อ.ท. มีภารกิจหลักเป็นนายทะเบียนออกเลขหมายบาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล GS1 ในประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้บาร์โค้ดให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น มาตรฐานสากลสำหรับการระบุสิ่งต่างๆ มาตรฐานสากลสำหรับการบันทึกข้อมูล และ มาตรฐานสากลสำหรับการแบ่งปันข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วในระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถาบันฯจะไม่หยุดพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานและบริการ และมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานสินค้าไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ และพร้อมเป็นฟันเฟืองอีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดหลักของงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2566 ซึ่งครบรอบปีที่ 35 ภายใต้แนวคิด “35 ปี GS1 Thailand มุ่งมั่น ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาไทยให้ยั่งยืน” มุ่งยกระดับมาตรฐานสินค้าและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สมดุลและยั่งยืน