สถาบันยานยนต์ ผนึก อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนา “Automotive Summit 2023” ระดมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ – เอกชนกว่า 40 ท่าน แบ่งปันมุมมองเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์สมัยใหม่


สถาบันยานยนต์ จับมือ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ แถลงข่าวการจัดงานสัมมนา Automotive Summit 2023 ภายใต้แนวคิด “Reshape the Future of Thai Automotive Industry: พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ในงาน Manufacturing Expo  2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ  ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป ได้รับทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์  และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเกี่ยวกับยานยนต์ไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกว่า จากข้อมูลเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 9 สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายในช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 โดยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่าย 31.8 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน (ข้อมูลจาก LMC Automotive)

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี พ.ศ. 2566 ทางสถาบันยานยนต์คาดว่าจะมียอดผลิตประมาณ  1,950,000 คัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 900,000 คัน และส่งออกขายไปยังต่างประเทศประมาณ 1,050,000 คัน โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของปี พ.ศ. 2566 คือเดือนมกราคม-เมษายน มีปริมาณการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยประมาณ 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 5% เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย และมีกำลังสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศมีประมาณการจำหน่ายประมาณ 276,603 คัน ลดลง 6% เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ในส่วนของยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 19,347 คัน เพิ่มขึ้น 1,206% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ตลาดส่งออกมีปริมาณ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น 18% เป็นผลจากฐานต่ำของปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต

 

ทั้งนี้ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณผลิต จำหน่ายและส่งออกขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ  ในส่วนของปัจจัยภายนอกประเทศด้านสถานการณ์ตลาดส่งออก  จากข้อมูลของ IHS Markitคาดการณ์ว่า ตลาดหลักคือ อาเซียนและตะวันออกกลางจะยังเติบโต ร้อยละ 4 และ 6 ตามลำดับ   เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตลาดหลัก คือ ออสเตรเลียและอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการด้านอุปสงค์และอุปทาน ทำให้การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยส่งออก จึงอาจทำให้เสียโอกาสการส่งออกบางส่วน

 

“ในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2566 การส่งออกรถยนต์จากจีนมีจำนวน 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58  มากกว่าการส่งออกของญี่ปุ่นที่มีจำนวน 950,000 คัน เนื่องจากความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ตั้งโรงงานในจีนเริ่มพิจารณาปรับลดการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ผลิตรถยนต์ของจีนได้ ผลดังกล่าว อาจจะทำให้การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ทั้งรถยนต์ของจีนและรถยนต์ของต่างประเทศที่ลงทุนในจีน” ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร แต่เชื่อว่า นโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน

 

ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวว่าจากเป้าหมาย 30@30 และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจากประเทศจีนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เนื่องด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่ SAIC กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี, GWM กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี , BYD กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี, NETA กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี อยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2 ราย ได้แก่ GAC Aion และ Chang An Automobile และมีแผนลงทุน 1 ราย ได้แก่ Chery Automobile ปี 2567 ซึ่งเป็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่ยังมีประเด็นความท้าทายคือ เงื่อนไขการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป มาตรการกีดกันการทางการค้าระหว่างประเทศมีน้อยลง เช่น ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ประกอบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนมีความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ  ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในประเทศจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

สถาบันยานยนต์ จึงร่วมกับ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนา Automotive Summit 2023  ซึ่งร่วมกันจัดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Reshape the Future of Thai Automotive Industry: พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จากวิทยากรผูู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 40 คนมาร่วมแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เข้าฟังสัมมนาภายในงาน

 

สำหรับเนื้อหาในงานสัมมนาจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1.Transition หรือการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น  เรื่องความยั่งยืน การใช้ไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ในยานยนต์ และบทบาทของซอฟต์แวร์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในเทคโนโลยียานยนต์ เป็นต้น และ 2. Transformation หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องบุคลากร คุณภาพการผลิตของชิ้นส่วนยานยนต์ให้ได้มาตรฐานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกำหนด การนำเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยชนิดใดบ้างมาใช้งานให้สอดรับการกับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า และที่สำคัญการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะต้องสอดรับกับนโยบายภาครัฐและตลาดยานยนต์โลกอย่างไรบ้าง ปิดท้ายด้วยนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 40 ท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มานำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

วราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ในทุกๆ ปีช่วงเดือนมิถุนายน อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จะจัดงาน Manufacturing Expo ขึ้นให้เป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมได้พบกับเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ในมหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน โดยรวมเอางานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเฉพาะทางถึง 8 งาน ทั้งการผลิตพลาสติก แม่พิมพ์และการขึ้นรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ การเตรียมพื้นผิว ชุบเคลือบ และทำสีชิ้นส่วน การแสดงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อภาคการผลิตและภาคบริการ การผลิตและประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง บริหารจัดการ และบำรุงรักษาโรงงานและอาคาร และการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำหรับหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมไว้ในมหกรรมเดียว

 

หนึ่งใน 8 งานแสดงเฉพาะทางของ Manufacturing Expo  คืองาน  Automotive Manufacturing  งานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 และจะเป็นศูนย์รวมทุกเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งการแปรรูปโลหะแผ่น การเชื่อม และการตรวจวัด ผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วน ที่ผู้ประกอบการในวงการยานยนต์ทุกคนจะได้มาเกาะกระแสรับมือความเปลี่ยนแปลงพร้อมไปกับผู้ให้บริการกว่า 250 แบรนด์จากหลายประเทศ

 

ในงาน Automotive Manufacturing  จัดแสดงเทคโนโลยีหลากหลายประเภทที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการผลืตชิ้นส่วนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการแสดงเครื่องแปรรูปโลหะแผ่นสำหรับผลิตตัวถังรถ ฝากระโปรงรถ เช่น เทคโนโลยีเครื่องตัดเลเซอร์ 3 มิติ และเครื่องตัดโลหะ, เทคโนโลยีเด่นในงานอีกประเภทก็จะเป็นเครื่องวัดที่จะช่วยตรวจสอบว่าชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นมานั้นได้คุณภาพหรือไม่ เช่น โซลูชั่นที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบอนุภาคปนเปื้อนได้เร็วขึ้นผ่านการใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงและอิเล็กตรอน สามารถระบุแหล่งที่มาของอนุภาคปนเปื้อนนั้นได้ และจะมีการเปิดตัวเครื่องสแกนวัดชิ้นส่วนที่ไวที่สุดในโลก และยังจะมีผู้รับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปแสดงในงานด้วย จึงเรียกว่าเป็นงานที่ครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จริงๆ

 

วราภรณ์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2566 นี้นับเป็นปีที่ 13 ของ Manufacturing Expo สำหรับการจัดงาน  Automotive Summit 2023 เป็นส่วนหนึ่งของงาน  Manufacturing Expo คาดหวังว่าปีนี้จะมีผู้ประกอบการนำแบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดแสดงภายในงานครบครันเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ทั้งจากผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจมากมายให้ผู้ร่วมงานได้เข้าร่วมเกี่ยวกับทางยานยนต์ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการผลิตไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆที่นำมาผลิต เพื่อร่วมกันดูแลรักษาเรื่องสภาพอากาศที่เกิดจากการเชื้อเพลิงสันดาปด้วยน้ำมันเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีไฟฟ้าแต่ละผู้ประกอบการมีนวัตกรรมและเทคโนโลยี  ที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับฟังเพื่อนำไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save