สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สนับสนุนนวัตกรรมไทยไปสู่เวทีโลกและความยั่งยืน จัดงาน “KMITL Innovation Expo 2023” ภายใต้แนวคิด World Towards Sustainability Together แสดงศักยภาพนวัตกรรมและผลงานวิจัยระดับโลก 1,111 ชิ้นฝีมือคนไทย โชว์ผลงานเด่น อากาศยานไร้คนขับ อีวีทัล (eVTOL), รถสามล้อไฟฟ้า ATOM, แบตเตอรี่กราฟีน พร้อมผนึกพลังความร่วมมือพันธมิตร 5 ด้าน เปิดเวทีเสวนาและคลังความรู้ 126 เวิร์กชอป โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกสภาสถาบัน สจล. และ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภาสถาบัน สจล. ร่วมพิธีเปิด พร้อมทั้ง ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมไทยสู่เวทีโลก” ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า งาน KMITL Innovation Expo 2023” ทั้งสจล.และคนไทยร่วมเป็นพลังขยับปีกนวัตกรรม เปิดขอบฟ้ากว้างของนวัตกรรมระดับโลกอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยฝีมือคนไทย อาทิ อากาศยานไร้คนขับ อีวีทัล (eVTOL) ขนาด 3.3 เมตร อากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า ลูกผสมของเทคโนโลยีโดรนและเฮลิคอปเตอร์ สร้างสถิติครั้งแรกในประเทศไทย บินลาดตระเวน 10 ล้านไร่ และบินสำรวจป่าไม้-จัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 30 ล้านไร่ ในอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เพื่อใช้สำรวจอัปเดตข้อมูลและแผนที่ทรัพยากรป่าไม้ บริหารจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม มีสมรรถนะสูง เบาและเงียบ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งถูกหลักพัน เมื่อเทียบกับใช้เฮลิคอปเตอร์หลักแสน ผลงานโดยทีมวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล.ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
อากาศยานไร้คนขับ อีวีทัล (eVTOL) ขึ้น-ลงแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า สร้างสถิติครั้งแรกในไทย ด้วยการบินลาดตระเวน 10 ล้านไร่ และบินสำรวจป่าไม้-จัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 30 ล้านไร่ ในอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง
ERA – ATOM รถสามล้อไฟฟ้าสายพันธุ์สปอร์ตสุดล้ำ ผลงานจากทีมอาจารย์และนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. ออกแบบโดย ธาวิน ตั้งบุญญศิลป์ นวพัฒน์ ศรีโปดกและ ศตวรรษ ลิ้มกอปรไพบูลย์ ผู้มีประสบการณ์ทำคอมโพสิตและรถแข่งมา 20 ปี ต่อมาได้ตั้งสตาร์ทอัป บริษัท Electric Racing Automotive พัฒนาและผลิต ERA – ATOM สำหรับการใช้งานในชุมชนหมู่บ้าน ดีไซน์สุดคูล น่ารักเป็นเพื่อน ปลอดภัย โดดเด่นด้วยการออกแบบช่วงล่างระบบ Four Link มีแขน 4 ตัว โช้ครับน้ำหนักได้ดี เสถียรภาพสูงกว่าการใช้แหนบ ตัวถังเป็นคาร์บอนคอมโพสิต น้ำหนักเบา ทำให้กินไฟน้อย คล่องตัว รุ่นแบตเตอรี่ลิเธียม ชาร์จที่บ้านได้ใช้เวลา 4 – 6 ชม. วิ่งได้ระยะทาง 60 กม.ต่อ 1 ชาร์จ ทั้งนี้ปลายปี 2566 เตรียมออกรุ่นใหม่ ซึ่งจะจดทะเบียนการใช้งานบนถนนสาธารณะ
แบตเตอรี่กราฟีน อนาคต EV ไทย โดยคณะวิทยาศาสตร์ สจล. นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและนวัตกรรมด้านวัสดุอัจฉริยะ ได้คิดค้นพัฒนา ‘แบตเตอรี่กราฟีน‘ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศไทยได้ก้าวเป็นฮับ EV โดยใช้ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับ คาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติ เช่น ถ่านเปลือกทุเรียน ถ่านกัญชง ถ่านหินลิกไนต์ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า และได้พัฒนาวัสดุใหม่ คือ วัสดุคอมโพสิตยางพารา ผสม นาโนกราฟีนออกไซด์ เพื่อป้องกันการคายประจุจากไฟฟ้าสถิต แบตเตอรี่กราฟีน มีจุดเด่น คือ กักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นจากแบตเตอรี่แบบเดิม (Fast Charge) ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้เท่าตัว ราคาถูก ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะจากสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก นอกจากนี้ทีมวิจัยยังนำวัสดุกราฟีนไปต่อยอดเป็นนวัตกรรม ผ้าไหมกราฟีน, รองเท้าผ้าใบกราฟีน, เสื้อเกราะกันกระสุนจากกราฟีน อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี เอ้กอีเอ้ก ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบคุณภาพไข่ที่พร้อมจะนำไปฟักเป็นลูกไก่, อุปกรณ์อัจฉริยะตรวจจับสารตกค้างในผักผลไม้, ระบบ AI ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, กระดาษอัจฉริยะดูดซับคราบน้ำมันและกลิ่น ทำจากต้นกกธูป, ผลิตภัณฑ์ BCG แปรรูปจากต้นยาง ต้นกาแฟ กากกาแฟที่เหลือใช้, TryAngle เฟอร์นิเจอร์จากเหล็กข้ออ้อย วัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง, อควาโปนิคส์ อุปกรณ์ปลูกผักในคอนโดมิเนียม, อาหารแห่งอนาคต, อาหารผ่านสายฟีดแบบฟรีซดราย สำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยติดเตียง, คอมบูชาสะระแหน่ เป็นต้น
รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า สจล.ได้ตกลงผนึกความร่วมมือครั้งใหญ่ 5 ด้านเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าของนวัตกรรมไทยและสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ 1. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดย สจล.ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล.กับคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันโครงการยิงดาวเทียมขนาดเล็ก ผ่านโครงการกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์ในด้านสาธารณสุข – ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การดูแลไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 สร้างเสริมประเทศไทยให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) โดยเป็นการสร้างนวัตกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศ
- ความร่วมมือเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ได้ผนึกความร่วมมือร่วมกับมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (EarthSafe) และกลุ่มมิตรผล 3. ความร่วมมือด้านนวัตกรรมอาหาร ประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลกในด้านอาหาร ซึ่งเป็นพลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือนไทย สจล.ได้เตรียมรุกคืบทางด้านนวัตกรรมอาหาร โดยนำวิศวกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอาหารมาสร้างสรรค์ และผลิตอาหารที่ตอบโจทย์เป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ สจล.ได้จับมือกับ WeChef สตาร์ทอัปการจัดการพื้นที่ขายอาหาร Food Truck รุ่นใหม่ โดยนำ Digital Platform พัฒนา Platform ช่วยวางแผนและบริหารการขายหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้เจ้าของพื้นที่บริหารพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความร่วมมือด้านการเรียนรู้ยุคใหม่ สจล. โดยสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL Lifelong Learning Center : KLLC) ได้ลงนาม MOU กับ 5 องค์กร ได้แก่ 1. บริษัท ทาเลนท์ ดีเทคทีฟ จำกัด ร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนทักษะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 การ Upskill Reskill และ New Skill ส่งเสริมให้บุคลากรเป็นกำลังสำคัญของประเทศ 2. สมาคมศิษย์เก่า สจล. และวัดปฐมวิเวก ในการร่วมกันพัฒนาชุมชน 3. สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดยบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 4. บริษัท เฮ้าส์ ออฟ กริฟฟิน จำกัด ร่วมพัฒนาต่อยอดหลักสูตร/โครงการ/กิจกรรม 5. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง โดยบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาฝีมือแรงงาน และร่วมกันส่งเสริมเยาวชน กลุ่มคนทุกช่วงวัย รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยตลอดเวลา
- ความร่วมมือสู่ Digital University สจล. โดย KDMC ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อพัฒนายกระดับ สจล.เป็น Digital University ผลักดันบุคลากรสู่โลกดิจิทัล มุ่งให้มีการบริหารจัดการภายในสถาบันอัจฉริยะ พัฒนาระบบประเมิน KMITL’s Disruptive Performance-Based Payment (DPBP) ตั้งศูนย์บริหารการจัดการข้อมูลโดยรวบรวมมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจและเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและแม่นยำ การใช้ข้อมูลโดยเน้นถึง PDPA ส่งเสริมการใช้ Digital Platform เปลี่ยนโฉม (Transforms) หน่วยงานและการบริหารจัดการ
ในส่วนของแนวโน้มนวัตกรรมโลก สจล. ได้เชิญกูรูด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมระดับโลก ได้แก่ Mr.David Rosengrave, Education Industry Solutions Lead, APJ บริษัท AWS เสนอแนะแนวโน้มคลาวด์ คอมพิวติ้ง “Cloud Computing in Our Everyday Life”, Dr. Gijs Theunisssen DVM, The Netherlands Agricultural Counsellor เปิดมุมมองอนาคตฟาร์มเกษตร “Future Farming for a Sustainable World”, ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นด้านนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี “Innovation for SMEs in Thailand”, Mr. Volker Schmid, Head of Asia Pacific-Festo Didactic SE และ Mr. Ralf Opierzynski, VP Strategic Business Development-Integration, Works Asia Co., Ltd. ให้ข้อคิดเห็นการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 “Digitalization and Industry 4.0 for SMEs”